ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รองปลัดแรงงานย้ำบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวคุ้มครองสิทธิทัดเทียมกันตามกม.


 


รองปลัดแรงงาน เปิดการสัมมนา เรื่อง “การนำบันทึกข้อตกลงด้านแรงงานระหว่างไทยกับเวียดนาม มาสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล” ย้ำให้การคุ้มครองสิทธิแรงงานทัดเทียมกัน ตามกฎหมาย

นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะเป็นประธานการสัมมนา เรื่อง “การนำบันทึกข้อตกลงด้านแรงงานระหว่างไทยกับเวียดนาม มาสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล” ณ ห้องประชุมบุษกร ชั้น 3 โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ วันนี้ (27 มิ.ย. 59) ว่า “พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานเพื่อนบ้าน โดยได้มีการทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกภาคราชการ ได้แก่ รัฐบาล กระทรวงแรงงาน และกรมการจัดหางาน อีกส่วนคือผู้นำเข้าแรงงาน โดยวันนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่องค์การสภานายจ้าง ได้เข้ามามีบทบาทในการเตรียมการบริหารจัดการแรงงานเวียดนาม ซึ่งเป็นมิติใหม่ในความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งหมด เพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้”

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า “รัฐบาลมีความตั้งใจในการจัดการแรงงานต่างด้าว  อย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons) และการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal Unreported and Unregulated fishing - IUU Fishing) เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรม การเคารพสิทธิ และการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานเพื่อนบ้าน ให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างมีความสุข ทัดเทียมกับแรงงานไทย โดยต้องยอมรับว่าแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานเพื่อนบ้านเป็นกลุ่มสำคัญที่มีส่วนในการรองรับพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา”

โดยการสัมมนาในวันนี้ จัดขึ้นเนื่องจากสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) ได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง MOU กับประเทศเวียดนาม เพื่อนำเข้าแรงงานในสาขาก่อสร้างและประมง ซึ่ง ECOT เล็งเห็นว่า MOU ที่นำสู่การปฏิบัติในครั้งนี้ ยังไม่สามารถตอบสนองปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคธุรกิจได้ทั้งหมด ECOT จึงได้ข้อรับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้าย ถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของภาคีฝ่ายนายจ้างขึ้น    ในครั้งนี้ โดยเชิญตัวแทนภาคธุรกิจ ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญจาก ILO และ IOM มาร่วมการแสดงความคิดเห็น อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ MOU นี้ ตอบสนองความต้องการของกลุ่มนายจ้างได้อย่างมีประสิทธิผล โดยข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ จะนำเสนอกระทรวงแรงงานพิจารณาต่อไป
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มิ.ย. 2559 เวลา : 16:17:19

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:21 pm