ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เผยผลตรวจปลาดิบ (ซาชิมิ) 6ตัวอย่างจากร้านอาหารญี่ปุ่นในห้างฯไม่พบสีสังเคราะห์


 


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจวิเคราะห์ปลาดิบ (ซาชิมิ) จำนวน  6  ตัวอย่าง ไม่พบสีสังเคราะห์ ตามที่ผู้บริโภคจำนวนมากได้ตั้งข้อสังเกตในสื่อสังคมออนไลน์ แนะประชาชนควรเลือกซื้อปลาดิบที่เป็น  sashimi grade หรือ sushi grade fish ซึ่งเป็นปลาทะเลที่เตรียมเพื่อการบริโภคดิบอย่างปลอดภัย ในกรณีที่ซื้อปลาทะเล ที่แล่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตควรสอบถามแหล่งที่มาของปลา (ถ้าผู้จำหน่าย ให้ข้อมูลได้) หากเป็นปลาดิบที่แล่แล้วควรบรรจุในภาชนะที่ปิดเรียบร้อย เช่น ถาดที่มีแผ่นฟิล์มพลาสติกหุ้มมิดชิด และขณะวางจำหน่ายควรเก็บรักษาอุณหภูมิแช่เย็นตลอดอายุการจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ

น.พ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ตามที่ผู้บริโภคจำนวนมากได้ตั้งข้อสังเกตในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องปลาแซลมอนใส่สี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในอาหารมาโดยตลอด และเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกเก็บตัวอย่างปลาดิบ (ซาชิมิ) จำนวน 6 ตัวอย่าง จากร้านจำหน่ายอาหารญี่ปุ่น จำนวน 6 ร้าน ในห้างสรรพสินค้าในเขตกรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางเคมีไม่พบสีสังเคราะห์ในทุกตัวอย่าง ส่วนโลหะหนัก 4 ชนิด ได้แก่ ปรอท สารหนู และตะกั่ว พบในปริมาณที่น้อยกว่าเกณฑ์กำหนดทุกตัวอย่าง สำหรับแคดเมียมนั้นไม่มีเกณฑ์กำหนด แต่ในทุกตัวอย่างพบปริมาณน้อย
 
ส่วนผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางจุลชีววิทยาพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 50 ได้แก่ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) 1 ตัวอย่าง, สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ร่วมกับลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) 1 ตัวอย่าง และลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) 1 ตัวอย่าง นอกจากนั้นพบปริมาณจุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะการผลิต อี โคไล  (E. coli) เกินเกณฑ์กำหนด จำนวน 1 ตัวอย่าง  คิดเป็นร้อยละ 17 โดยพบร่วมกับลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) และเมื่อวันที่ 3-4 มิถุนายน 2559 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เก็บตัวอย่างปลาดิบ (ซาชิมิ) ส่งตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาอีก 6 ตัวอย่าง จากร้านจำหน่ายอาหารญี่ปุ่น จำนวน 3 ร้าน พบว่า ผลผ่านเกณฑ์กำหนดทุกตัวอย่าง

น.พ.อภิชัย แนะนำเพิ่มเติมว่า การบริโภคปลาดิบและการเลือกซื้อปลาทะเลที่แล่ขายนั้น ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานปลาทะเลดิบที่จำหน่ายในภัตตาคาร ร้านอาหารญี่ปุ่นต้นตำรับหรือร้านที่มั่นใจว่าใช้ปลาดิบที่เป็น sashimi grade หรือ sushi grade fish ซึ่งเป็นปลาทะเลที่เตรียมเพื่อการบริโภคดิบอย่างปลอดภัย ในกรณีที่ซื้อเนื้อปลาทะเลที่แล่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อมารับประทานเป็นปลาดิบควรเลือกปลาที่เตรียมแบบ sashimi grade หรือ sushi grade เช่นกัน และควรสอบถามแหล่งที่มาของปลา (ถ้าผู้จำหน่ายให้ข้อมูลได้) หากเป็นปลาดิบที่แล่แล้ว (แล่เป็นก้อนหรือสไลซ์เป็นชิ้นบางพอคำ) ควรบรรจุในภาชนะที่ปิดเรียบร้อย เช่น ถาดที่มีแผ่นฟิล์มพลาสติกหุ้มมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ขณะวางจำหน่ายควรเก็บรักษาในอุณหภูมิแช่เย็นตลอดอายุการจำหน่ายเพื่อควบคุมการเพิ่มปริมาณของเชื้อแบคทีเรีย และเนื่องจากเป็นอาหารที่เน่าเสียง่ายจึงควรรีบรับประทานให้หมดภายในวันที่ซื้อ ในส่วนผู้ประกอบอาหารและผู้แล่ปลาต้องล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร และถ้ามีบาดแผลที่มือให้ปิดพลาสเตอร์และใส่ถุงมือขณะประกอบอาหาร เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนเชื้อต่างๆ สู่อาหาร






 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ก.ค. 2559 เวลา : 16:41:42

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:24 pm