ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นำร่องใช้ ม.44 ยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก


 

นำร่องใช้ ม.44 ยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก แก้ไขปัญหาผู้ถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย


พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญออก  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ประกาศราชกิจานุเบกษา 5 ก.ค. 2559 และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วาง Road Map ระยะเวลาการดำเนิน งานดังกล่าวไว้เป็นเวลา 129 วันนั้น ขณะนี้ เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ประกาศแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งปฏิรูปที่ดินจังหวัด นิติกร นายช่างสำรวจ ช่างสำรวจ นายช่างโยธา วิศวกรสำรวจ วิศวกรโยธา ในพื้นที่เป้าหมาย เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว และได้มีประกาศกำหนดพื้นที่เป้าหมายการดำเนินการกับผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมจัดทำแผนที่ประกอบเพื่อให้บุคคลในท้องถิ่นนั้นรู้ตำแหน่งของพื้นที่เป้าหมายแล้ว
 

ด้านนายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้จัดทำพื้นที่เป้าหมายที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป เสร็จแล้วกว่า 125 แปลง และได้ทยอยส่งแผนที่แนบท้ายที่จะใช้ไปปิดประกาศพื้นที่เป้าหมายไปยัง ส.ป.ก. จังหวัด และในวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 นี้ ซึ่งพล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะลงพื้นที่เพื่อปิดประกาศยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก. เป็นครั้งแรกในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เป้าหมายยึดคืนมากที่สุด จำนวน 130 แปลง เนื้อที่ 111,074.87 ไร่ 

ขณะเดียวกันเมื่อวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้เสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินของผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยประกาศดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ ส.ป.ก. จังหวัด ถือปฏิบัติ โดยประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 หลักฐานใดบ้างที่นำยื่น หลักฐานที่นำยื่นเป็นหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นตามข้อ 3 วรรคสอง แห่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ได้แก่ โฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง หรือตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. น.ส.3 ข. หรือแบบหมายเลข 3) หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ใบแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินตามมาตรา 27 ตรี (ส.ค.2) ใบจอง (น.ส.2) ใบเหยียบย่ำ หนังสือแสดงการทำประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ ได้แก่ หนังสือแสดงการทำประโยชน์ในเขตนิคมสร้างตนเอง (น.ค.3) หรือหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในเขตนิคม สหกรณ์ (ก.ส.น. 5) หนังสือแสดงสิทธิอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้หลักฐานที่ผู้ถือครองที่ดินจะนำมาแสดงยังหมายรวมถึงหลักฐานที่ยืนยันการครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าวเพื่อขอรับการจัดที่ดินด้วยเช่น ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท5) หลักฐานที่แสดงการครอบครองที่ดิน

ส่วนที่ 2 หลักเกณฑ์การตรวจสอบ กำหนดให้ตรวจสอบความมีอยู่จริงและตำแหน่งที่ตั้งที่ดินของหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดิน ของผู้ครอบครองที่ดินที่ยื่นมากับที่ตั้งที่ดินบริเวณพื้นที่เป้าหมายเป็นสำคัญ

ส่วนที่ 3 วิธีการตรวจสอบโดยหลักๆ นั้น ความมีอยู่จริงของหลักฐานที่ผู้ครอบครองที่ดินนำมายื่นกำหนดให้ตรวจสอบจากหลักฐานฉบับสำนักงานที่ดินกรณีเป็นหลักฐานตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือหน่วยงานอื่นที่ออกหลักฐานกรณีเป็นหลักฐานตามกฎหมายอื่น และใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท5) หลักฐานที่แสดงการครอบครองที่ดิน จะต้องเป็นหลักฐานที่มีมาก่อนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ใช้บังคับ

ส่วนการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินตามหลักฐานจากแผนที่ของสำนักงานที่ดิน และเขตการปกครองที่ปรากฏในหลักฐานตรงหรือสัมพันธ์กับเขตการปกครองกับตำแหน่งที่ดินบริเวณพื้นที่เป้าหมายเป็นหลักฐาน    
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.ค. 2559 เวลา : 13:21:16

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:18 pm