ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ม.หอการค้าไทยคาดหยุดยาวอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา เงินสะพัด 5.7 พันลบ.


 


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ในช่วงวันหยุดยาว 5 วัน พบว่าจะมีเงินสะพัด 5,773.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6  % สูงสุดในรอบ 5 ปี ในจำนวนนี้เป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียว 10,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.05 %ของจีดีพี แม้ว่าจะยังไม่มาก แต่นับเป็นสัญญาณดีที่สะท้อนว่าประชาชนมั่นใจว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้นแล้ว จึงพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอย แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้า ๆ หรือเป็นรูปตัวยูช่วงแอ่งกระทะ และคาดว่าไตรมาส 3 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเด่นชัดขึ้น

สำหรับพฤติกรรมและการใช้จ่ายในช่วงวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา มีคนวางแผนเดินทางออกนอกพื้นที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 46.1%  โดยคนที่ไปจะเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำบุญในประเทศมากกว่าต่างประเทศ 95.2% และ4.8% ตามลำดับ โดยกิจกรรมที่นิยมทำ คือ ตักบาตร ทำบุญ ไปถวายเทียน ไปถวายสังฆทาน ไปท่องเที่ยวในประเทศ  เป็นต้น

เทศกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษานั้น ชาวพุทธศาสนิกชนยังคงใช้จ่ายเพื่อทำบุญมากขึ้นกว่าเดิม หรือเฉลี่ยใช้เงินคนละ 4,571 บาท เพิ่มขึ้น 59 %ทั้งด้านปริมาณและมูลค่าการใช้จ่าย โดยใช้เงินเพื่อซื้อของตักบาตรมากที่สุด เฉลี่ยคนละ 436 บาท เพิ่มขึ้น 33.5 %  รองลงมา คือ ทำบุญ 793 บาท เพิ่มขึ้น 35 %  ถวายเทียน 534 บาท เพิ่มขึ้น45% ท่องเที่ยวในประเทศ 4,156 บาท เพิ่มขึ้น  62 %  ทำทาน 352 บาท เพิ่มขึ้น 34% เวียนเทียน 277 บาท เพิ่มขึ้น 31 % ปล่อยนก ปล่อยปลา 253 บาท เพิ่มขึ้น 38% เสี่ยงโชค ซื้อสลาก ซื้อหวย 986 บาท เพิ่มขึ้น 27 %กลับบ้านต่างจังหวัด 2,842 บาท เพิ่มขึ้น 66.5% ทานอาหารนอกบ้าน 1,257 บาท เพิ่มขึ้น 53 %เที่ยวห้าง 1,460บาท เพิ่มขึ้น63% เป็นต้น

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ต้องการให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน เบิกจ่ายเงินงบประมาณ และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นว่า มาตรการเพิ่มวันหยุดยาว มาตรการช็อปสินค้า OTOP จะมีผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว มีสินค้าโอท็อป น่าจะทำให้เงินสะพัดในพื้นที่ได้มาก 500-1,000 ล้านบาทในช่วง 1 เดือนนี้ หรือสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เพิ่มขึ้นได้ 0.1-0.3% ของจีดีพีพื้นที่  พร้อมกันนี้ แนะนำให้ผู้ประกอบการชุมชนติดป้ายว่าสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ พร้อมแสดงใบลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนเพื่อให้ประชาชนทราบ 


LastUpdate 14/07/2559 15:38:34 โดย : Admin

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:02 pm