ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
TMB Analytics ชี้ 'ลงทุนธุรกิจค้าปลีก' ในเมียนมาร์รุ่ง


 


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ชี้ 'ลงทุนธุรกิจค้าปลีก' ในเมียนมาร์รุ่ง เหตุเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง ช่วยหนุนส่งออกไทยเพิ่มระยะยาว

 
เศรษฐกิจเมียนมาร์ปี 2554-2558 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8 และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 8.3 ในปีหน้า ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB คาดว่ารายได้เฉลี่ยของประชาชนเมียนมาร์จะเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 13 ปีข้างหน้า จากรายได้เฉลี่ยต่อคน 1,269 เหรียญสหรัฐฯ ในปีก่อน
 

TMB Analytics คาดว่ากำลังซื้อของประชาชนเมียนมาร์จะสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกในเมียนมาร์เป็นรูปแบบ”ค้าปลีกดั้งเดิม” ประมาณร้อยละ 90 และเป็น “ค้าปลีกสมัยใหม่” โดยผู้ประกอบการท้องถิ่นเพียงร้อยละ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามซึ่งเปิดรับการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจก่อนเมียนมาร์ มีสัดส่วนธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่อยู่ที่ร้อยละ 24 ขณะที่ไทยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50 ของผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งระบบ ดังนั้นธุรกิจค้าปลีกสมัยในเมียนมาร์ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก    

นอกเหนือจากเทรนด์ทางธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในเมียนมาร์ที่เรียกว่า”กำลังมา” แล้ว จากข้อมูลเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าลงทุนในเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเมียนมาร์ในปี 2555-2558 มูลค่าประมาณ 18,700 ล้านเหรียญสหรัฐ พบว่า มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้นที่ลงทุนในธุรกิจบริการและค้าปลีก ดังนั้น การลงทุนธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในเมียนมาร์จึงยังต้องการเม็ดเงินลงทุนเพิ่มอีกมหาศาล   โดยพื้นที่เหมาะสมกับการลงทุน ได้แก่  ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอร์ เนื่องจากมีจำนวนประชากรหนาแน่น กำลังซื้อสูงกว่าพื้นที่อื่น มีความพร้อมของสาธารณูปโภคและการเป็นจุดยุทธศาสตร์กระจายสินค้าไปสู่พื้นที่ส่วนอื่นของเมียนมาร์ 

นอกเหนือจากโอกาสและแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีทิศทางสดใสแล้ว นักลงทุนและผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ของไทย ยังมีแต้มต่อเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ อยู่ 3 ด้านคือ 1.) ด้านประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจในไทยที่มีรูปแบบหลากหลายและมีการแข่งขันสูงจึงสามารถนำความรู้ไปใช้ต่อยอดการลงทุนในเมียนมาร์  2.) ด้านสถานที่ตั้งของไทยที่อยู่ติดกับเมียนมาร์ สามารถขนส่งสินค้าต่างๆ ไปยังเมียนมาร์ได้ง่าย และ 3.) มีการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมียนมาร์เปิดเสรีด้านการลงทุน รวมทั้งคนเมียนมาร์ยังนิยมสินค้าไทย เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ ภาพลักษณ์และราคาที่เหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าที่ผลิตจากแหล่งอื่น 

โอกาสจึงเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนไทยสำหรับการลงทุนธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในเมียนมาร์ แถมมีแต้มต่อเมื่อเทียบกับนักลงทุนจากประเทศอื่น อย่างไรก็ตามการลงทุนในเมียนมาร์ยังมีความเสี่ยงด้านการเมืองและระเบียบข้อบังคับการลงทุนอยู่ รวมทั้งมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าบางประเภท ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ละเอียดก่อนเข้าไปดำเนินธุรกิจ ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐของไทยควรมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมภาคเอกชนด้วย เพราะไทยก็จะได้ประโยชน์จากการมีช่องทางจำหน่ายสินค้าในตลาดเมียนมาร์โดยตรงเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ขณะนี้  ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าส่งออกของไทยให้สูงขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้ TMB Analytics คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยไปเมียนมาร์ในปี 2560 จะมีมูลค่า 4,566 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีโอกาสจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ร้อยละ 9.6 จากที่หดตัวร้อยละ 0.1 ในปีนี้




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ค. 2559 เวลา : 15:49:50

16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 11:20 pm