ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กทม. ระงับใช้อาคารเมเจอร์ ปิ่นเกล้าชั่วคราวจนกว่าจะมั่นใจในปลอดภัย


 


วันนี้ (30 ก.ค. 59) เวลา 09.30 น.  นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสุชัชวีร์ สุวรรณศักดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายประสาร พิทักษ์วรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจความปลอดภัยของอาคารห้างสรรพสินค้าเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สาขาปิ่นเกล้า หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 59

รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการตรวจพื้นที่ว่า จากการตรวจพื้นที่พบว่าบริเวณชั้น 1 – 3 สภาพยังค่อนข้างดี แต่บริเวณชั้น 4 เสียหายเกือบทั้งหมด ซึ่งทางเจ้าของอาคารจะต้องมีการตรวจสอบความเสียหายให้ละเอียดอีกครั้ง เบื้องต้นกรุงเทพมหานครโดยสำนักงานเขตบางพลัดได้แจ้งให้หยุดใช้อาคารดังกล่าวชั่วคราว เพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งให้เจ้าของอาคารเร่งตรวจสอบความเสียหายของอาคาร รวมถึงแจ้งขออนุญาตรื้อถอนส่วนที่เสียหายให้เรียบร้อยโดยเร็ว หลังจากนั้นหากจะมีการปรับปรุงอาคารก็ให้ยื่นแบบขออนุญาตปรับปรุงอาคารอีกครั้ง ส่วนพื้นที่บริเวณชั้น 1 – 3 ที่ยังมีสภาพค่อนข้างดีอยู่นั้นก็จะยังไม่เปิดให้ใช้งานจนกว่าจะตรวจสอบจนแน่ใจหรือชัดเจนว่ามีความปลอดภัยแล้วจึงจะเปิดให้ใช้งาน ซึ่งต้องดูรายละเอียดต่างๆ ด้วยความรอบคอบ ทั้งนี้ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีมาตรการเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยของอาคารทุกประเภทในพื้นที่โดยตลอด แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือเจ้าของอาคารต้องหมั่นตรวจสอบและใส่ใจดูแลอาคารให้มีความสมบูรณ์ แข็งแรง และพร้อมตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ประชาชนต้องได้รับความปลอดภัยสูงสุด

นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า อาคารห้างสรรพสินค้าเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สาขาปิ่นเกล้า แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกด้านขวามือสร้างเมื่อปี 2522 ต่อมาได้ต่อเติมส่วนที่ 2 คือตึกด้านซ้ายในปี 2548 สำหรับตึกด้านขวาเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ที่ 1 – 8 และตึกด้านซ้ายเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ที่ 9 – 13 จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบจุดไฟไหม้บริเวณป้ายไฟหน้าโรงภาพยนตร์ที่ 7 จึงสันนิษฐานว่าต้นเพลิงอาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรบริเวณป้ายไฟดังกล่าวแล้วลุกลามไปยังโรงภาพยนตร์อื่นๆ อย่างรวดเร็ว เนื่องจากวัสดุอุปกรณ์ในโรงหนังส่วนใหญ่เป็นเบาะและพรหมจึงอาจเป็นปัยจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ติดไฟได้ง่าย โดยพื้นที่บริเวณชั้น 4 ของตึกขวาได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมดและความร้อนได้ทำให้โครงสร้างหลังคาเหล็กโค้งงอผิดรูปและยุบตัวลงมาแต่ยังไม่ได้พังถล่ม
 
อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัย เจ้าของอาคารต้องทำการขออนุญาตรื้อถอนโครงหลังคาและอุปกรณ์ต่างๆ บริเวณชั้น 4 โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ทางวิศวกรรมสถานฯ และกรุงเทพมหานคร จะได้หารือแนวทางการผลักดันและยกระดับมาตรฐานกฎหมายควบคุมอาคารต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เนื่องปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีอาคารเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก และกฎหมายควบคุมอาคารฉบับใหม่ที่มีการประกาศใช้ในปี 2550 อาจไม่มีผลบังคับใช้กับอาคารเก่าที่ก่อสร้างมาก่อน จึงอยากขอความร่วมมือเจ้าของอาคารตรวจสอบอาคารของตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากอาคารต่างๆ มีการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายจะช่วยให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยมากขึ้นโดยเฉพาะในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 30 ก.ค. 2559 เวลา : 16:46:41

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:09 pm