ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พณ.แนะช่วงนี้จังหวะดีร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นขยายตลาดในประเทศอาเซียน


 


นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ญี่ปุ่นประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีบริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นมีความระมัดระวังและไตร่ตรองในการจับจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคในประเทศยังไม่กระเตื้อง สินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ในญี่ปุ่นนั้นจะต้องมีคุณภาพสูงและราคาที่แข่งขันได้ อย่างไรก็ดี การร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นเพื่อขยายตลาดในประเทศอาเซียนน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทำธุรกิจกับประเทศญี่ปุ่นในช่วงนี้
 

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโซ อาเบะ ได้แถลงข่าวการเลื่อนระยะเวลาปรับขึ้นภาษีบริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 เป็นครั้งที่ 2 จากเดิมที่กำหนดจะปรับขึ้นในเดือนเมษายน 2560 เลื่อนเป็นเดือนตุลาคม 2562 หลังจากที่เคยประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีครั้งแรกจากเดือนตุลาคม 2558 โดยนายอาเบะได้ชี้แจงว่า ญี่ปุ่นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และความถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมถึงการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ของโลก ดังนั้น การระดมนโยบายและมาตรการของรัฐทั้งหมดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แม้จะยังไม่เกิดเหตุการณ์ระดับวิกฤต แต่การปรับขึ้นภาษีจะทำให้อุปสงค์การบริโภคภายในประเทศอ่อนตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้ตัดสินใจเลื่อนระยะเวลาปรับขึ้นภาษีดังกล่าว โดยจะเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนระยะเวลาปรับขึ้นภาษีบริโภคต่อที่ประชุมสภาสมัยวิสามัญในช่วงฤดูใบไม้ร่วงต่อไป นอกจากนั้น นายอาเบะ ได้เปิดเผยว่า จะออกมาตรการทางเศรษฐกิจโดยรวมครั้งใหญ่อีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง 2559 นี้

แม้จะประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีบริโภค แต่นายเอเบะกล่าวยืนยันจะไม่ล้มเลิกแผนการปฏิรูป   การคลัง และได้เน้นย้ำว่ายังคงตั้งเป้าที่จะทำให้งบดุลหลักที่ขาดดุลอยู่เกินดุลให้ได้ในปี 2563 รวมถึงมาตรการลดอัตราภาษีที่วางแผนจะนำมาใช้ในเดือนเมษายน 2560 นั้น ก็จะเลื่อนตามระยะเวลาปรับขึ้นภาษีบริโภคเป็นเดือนตุลาคม 2562 เช่นกัน

การชะลอปรับขึ้นภาษีบริโภคในครั้งนี้  ได้รับการสนับสนุนจากสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren)   โดยประธาน Keidanren ได้ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของนายอาเบะเป็นการตัดสินใจที่เข้าใจได้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเงินฝืดและเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอีกครั้ง แต่ในส่วนของชาวญี่ปุ่นตอบรับกระแสนี้ใน   2 แนวทาง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเหตุผลของกลุ่มที่เห็นด้วยเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี หากภาษีบริโภคขึ้นจะกระทบกับรายจ่ายของครัวเรือน ส่วนเหตุผลของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นห่วงงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวในตอนท้ายว่า “สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจ     กับประเทศญี่ปุ่น จะต้องระวังถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น การบริโภคในประเทศที่ยังไม่เพิ่มขึ้น และ    การเน้นการจำหน่ายสินค้าญี่ปุ่นในต่างประเทศเพื่อลดการขาดดุลการค้า ซึ่งสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้       ในญี่ปุ่นนั้นจะต้องมีคุณภาพสูงและราคาที่แข่งขันได้ เนื่องจากผู้บริโภคจะไตร่ตรองในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี การร่วมลงทุนกับประเทศญี่ปุ่นโดยใช้เทคโนโลยีที่ดีของทั้งสองประเทศ และร่วมกันขายในประเทศอาเซียน อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทำธุรกิจกับประเทศญี่ปุ่น”
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ส.ค. 2559 เวลา : 11:48:55

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 5:42 am