ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของสถาบันการเงินไทย 9 แห่ง


 


ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Ratings) ของสถาบันการเงินไทย 9 แห่งดังนี้
         
-ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBank) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) บริษัท อีซี่บาย จำกัด (มหาชน) (EB) และบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (MBKET) ได้รับการปรับเพิ่มอันดับภายในประเทศระยะยาวเป็น AA+(tha) จาก AA(tha)
         
-บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KS) บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) และ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด (CIMBS) ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวเป็น AA(tha) จาก AA-(tha)
          
BBL KBank SCB KS SCBS CIMBT และ CIMBS ยังคงมี 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' ส่วน EB และ MBKET ยังคงมี 'แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ' เช่นกัน
         
 
นอกจากนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ที่
AAA(tha) และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นมีเสถียรภาพจากเดิมแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ 
          
การประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยถูกปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local Currency Issuer Default Rating) (ตามรายงาน "Fitch Reviews Thailand's Ratings, Applies Criteria Changes" ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2559) ส่งผลให้ฟิทช์ทำการทบทวนโครงสร้างอันดับเครดิตภายในประเทศของประเทศไทย (หรือ national ratings scale) และความเหมาะสมในเชิงเปรียบเทียบของอันดับเครดิตภายในประเทศของสถาบันทางการเงินในประกาศนี้

 
 

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
         
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL KBank และ SCB สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารซึ่งสะท้อนในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารที่ 'bbb+' และโครงสร้างเครดิตโดยรวม (credit profile) ของธนาคารเมื่อเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตดีที่สุดในประเทศ ซึ่งในกรณีนี้คือรัฐบาลไทย ทั้งนี้ธนาคารทั้ง 3 แห่งอยู่ในกลุ่มธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง และมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ฟิทช์มองว่าความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารทั้ง 3 แห่ง ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับลง ดังนั้นจึงส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารทั้ง 3 แห่ง และรัฐบาลไทยมีความแตกต่างในเชิงเปรียบเทียบที่ลดลง
          
อันดับเครดิตภายในประเทศของ KS และ SCBS อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศของ KBank และ SCB อยู่ 1 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึง มุมมองของฟิทช์ว่าบริษัทเหล่านี้มีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ 
          
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY EB MBKET CIMBT และ CIMBS สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่หรือกลุ่มที่อยู่ในต่างประเทศ ฟิทช์เชื่อว่าสถาบันการเงินเหล่านี้เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่และกลุ่ม เนื่องจากจากการที่บริษัทแม่หรือกลุ่มมีอำนาจควบคุมการบริหารงาน การเชื่อมโยงการดำเนินงานอย่างสอดคล้องกันกับกลุ่มในระดับสูง (integration) และการให้การสนับสนุนที่ผ่านมาในอดีตแก่บริษัทลูกเหล่านี้ทั้งในด้านการดำเนินงานและการเงิน
         
 
การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของ BAY สะท้อนว่าการปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารแม่ซึ่งคือ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (BTMU; A/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) อาจไม่ส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAY ต้องถูกปรับลดอันดับเครดิตในทันที (ในกรณีที่โครงสร้างเครดิตโดยรวมของประเทศไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง)

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิและตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน
         
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ BBL KBank SCB และ CIMBT มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของแต่ละธนาคารอยู่ 1 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต –อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
          
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BBL KBank และ SCB จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง เช่น อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดอันดับหากธนาคารเหล่านี้ลดวินัยในการรักษาระดับการยอมรับความเสี่ยง (risk appetite) และมีคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในด้านของฐานะเงินกองทุนลดลง (หรือมีความเสี่ยงที่จะลดลง) อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยอาจส่งผลให้มีการทบทวนอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารทั้ง 3 แห่ง
         
 อันดับเครดิตภายในประเทศของ KS และ SCBS จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตภายในประเทศของ KBank และ SCB ตามลำดับ และอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานปรกติแก่บริษัทลูก อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
          
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY EB MBKET CIMBT และ CIMBS น่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในความสามารถของบริษัทแม่ในการให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทลูก การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของ BTMU ACOM Co., Ltd หรือ Malayan Banking Berhad อาจจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของ BAY EB และ MBKET ตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงของความแข็งแกร่งทางการเงินของ CIMB Bank Berhad น่าจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของ CIMBT และ CIMBS การเปลี่ยนแปลงในโอกาสที่บริษัทแม่หรือกลุ่มจะให้การสนับสนุนแก่บริษัทลูกอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทลูกทั้ง 5 แห่ง อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
          
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิและตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BBL SCB KBank และ CIMBT จะได้รับผลกระทบในทางเดียวกันจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของแต่ละธนาคาร
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ส.ค. 2559 เวลา : 17:00:17

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 11:41 am