ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
'กอบศักดิ์'แจงจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อกิจการที่มีความสำคัญต่อศก.ไทย


 


วันนี้ ( 9 ส.ค. 59) เวลา 13.40 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อกิจการต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและการบริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 4 กองทุน ดังนี้ 1) กองทุนเรื่องของการสนับสนุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนในการลงทุนโครงการพื้นฐาน ลดภาระกลางคันของภาครัฐ และเป็นการสนับสนุนให้มีการพัฒนาโครงสร้างดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในอนาคต อย่างไรก็ตามการดำเนินการต้องมีการดูแลเรื่องผลตอบแทนให้กับนักลงทุนให้มีความมั่นคงตามความเหมาะสม โดยจะมีการรับประกันผลตอบแทนประมาณ 2 – 3 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้กองทุนที่สนใจ เช่น กองทุน กบข. กองทุนประกันสังคม ฯลฯ สามารถที่จะลงทุนในกองทุนดังกล่าวได้ วันนี้ที่ประชุม ครม. จึงมีมติให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการสนับสนุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยขึ้น

2) กองทุนเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนให้เกิดการประกอบธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมในประเทศไทยและเป็นตัวเร่งให้เกิดการเพิ่มปริมาณการนำผลวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง

3) กองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งโครงการนี้ได้มีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ปี 2535 โดยได้มีการดำเนินการในเรื่องอาหารกลางวัน ซึ่งการดำเนินการตรงนี้จะมีย้ายจากกระทรวงการคลังมาที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้การดำเนินการมีความสะดวกคล่องตัว และมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น รวมทั้งมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนดังกล่าวให้ครอบคลุมอาหารมื้ออื่น ๆ นอกจากอาหารกลางวันด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา การศึกษาภาคบังคับโดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ตลอดจนจะเน้นเรื่องระดับอายุโดยเฉพาะเด็กเล็ก เป็นต้น

4) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเตรียมการเพื่อจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติขึ้นมา ทั้งนี้เนื่องจากประชากรของประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุประมาณ 20 ล้านคนในอนาคต และมีหลายคนไม่ได้มีการเก็บออมที่พอเพียงซึ่งเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุก็มีความเสี่ยงที่กลายเป็นผู้ยากจน ดังนั้นเพื่อเพิ่มรายได้หลังเกษียณให้กับแรงงานในระบบจึงจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี ซึ่งจะเป็นการออมเพิ่มเติมจากช่องทางที่มีอยู่ปัจจุบัน  โดยจะครอบคลุมในหลายส่วนทั้งแรงงานที่เป็นลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 11.4 ล้านคน ตรงนี้จะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งในอีก 1 เดือนข้างหน้าจะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ส.ค. 2559 เวลา : 15:54:41

23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 8:50 pm