ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมควบคุมโรคแนะวิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงและโรคตาแดงในช่วงน้ำท่วม


 

นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้หลายจังหวัดของประเทศไทยได้ประสบกับภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากฝนที่ตกหนัก ซึ่งภาวะเช่นนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง และโรคฉี่หนู  ที่มักพบบ่อยในช่วงน้ำท่วม  จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 16 สิงหาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 756,675 ราย เสียชีวิต 3 ราย ส่วนโรคตาแดงพบผู้ป่วย 77,857 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต และโรคฉี่หนูพบผู้ป่วย 1,085 เสียชีวิต 16 ราย

          
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า โรคอุจจาระร่วง สาเหตุเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย  โดยผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง อาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง ส่วนการป้องกันโรค        อุจจาระร่วง สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยของตนเอง โดยขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ดังนี้ 1.กินสุกร้อน โดยกินอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อให้อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อน  2.ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมกับผู้อื่น และ 3.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อนกินอาหารและภายหลังจากการเข้าห้องน้ำ รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง ที่สำคัญประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังในการกินอาหารและดื่มน้ำให้มากขึ้น รวมถึงการถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค
          
โรคที่ควรระวังในช่วงน้ำท่วมอีกโรคคือ โรคตาแดง ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา ติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง หรือน้ำสกปรกเข้าตา โดยจะมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มักมีขี้ตามาก ตาบวม จะเป็นอยู่ประมาณ 5-14 วัน  การป้องกันโรคนี้ ประชาชนควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย อย่าให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย เครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และหากป่วยเป็นโรคตาแดง ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที และควรหยุดเรียนหรือหยุดงานรักษาตัวที่บ้าน ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายในน้ำ เพราะโรคนี้อาจแพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอาจป่วยเป็นโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส ซึ่งภายหลังน้ำลดแล้วจะทำให้สภาพพื้นดินในบริเวณที่พักอาศัยหรือทางเดินชื้นแฉะ เป็นแอ่งน้ำขัง โดยเชื้ออาจอยู่ตามบริเวณดังกล่าวได้ เชื้อโรคชนิดนี้จะสามารถเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานได้ สำหรับการป้องกันโรคฉี่หนู ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมรองเท้า เช่นรองเท้าบู๊ทยาง  หรือสวมถุงมือหนาๆเมื่อต้องสัมผัสน้ำเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากของมีคมบาดหรือทิ่มแทง  หากมีบาดแผลที่เท้าหรือบริเวณขา ให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล 

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กยังไม่รู้จักวิธีการป้องกันตัวเอง และดูแลบ้านให้สะอาด กำจัดขยะและเศษอาหารให้ถูกวิธี โดยใส่ในถุงพลาสติกหรือในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดเพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหรือเป็นแหล่งอาหารของหนู ที่สำคัญ หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดน่อง ตาแดง ให้ไปพบแพทย์ทันที และต้องแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 20 ส.ค. 2559 เวลา : 18:24:25

18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 1:52 pm