ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทยโต้ข่าว'ปลาทับทิม'คลุกฟอร์มาลีนก่อนส่งตลาด-วอนหยุดแชร์ข่าว


 


นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย ออกโรงป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทับทิมยันปลาปลอดภัยต่อผู้บริโภคไม่มีการใช้ฟอร์มาลีน วอนหยุดแชร์ข้อมูลคลาดเคลื่อน 
       
นายกสมาคมปลา ย้ำปลาทับทิมที่เลี้ยงโดยพี่น้องเกษตรกรปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่มีการใช้ฟอร์มาลีนกับปลาทับทิมก่อนส่งตลาด  วอนอย่าหลงเชื่อ และหยุดส่งต่อข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกระทบต่อผู้เลี้ยงปลา และผู้บริโภค

นายสมาน พิชิตบัญชรชัย นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย เปิดเผยถึง ข้อมูลที่มีการส่งต่อกันทางโซเชียลออนไลน์ ว่ามีการนำปลาทับทิมที่ได้จากการเลี้ยงมาคลุกเคล้ากับฟอร์มาลีนก่อนส่งตลาด เพื่อฆ่าแบคทีเรีย ให้ดูสดเสมอ และอยู่ได้นานๆนั้น มีความคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาพลักษณ์ปลาทับทิม ต่อการบริโภค และที่สำคัญคือกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาทับทิมที่ทำดีทั่วประเทศ วอนหยุดส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โปรดเห็นใจและให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาทับทิมด้วย เพราะการเพาะเลี้ยงทำภายใต้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีของกรมประมง (GAP-Good Aquaculture Practice) ที่สามารถยืนยันความปลอดภัยได้

ด้าน ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง อธิบายข้อเท็จจริงว่า ในวงการเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด ทั้งในบ่อดิน อ่างซีเมนต์ หรือกระชังในแม่น้ำ ล้วนมีโอกาสเกิดการติดเชื้อปรสิตชนิดต่างๆ เช่น ปลิงใส เห็บระฆัง ฯลฯ ที่จะอาศัยตามซอกเกล็ด หรือในเหงือกเพื่อเกาะกินเลือดปลา ก่อให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนังภายนอกของปลา ซึ่งต้องทำการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อก่อนจะเสียหายรุนแรง
       
“กรณีเช่นนี้ นักวิชาการประมงจะแนะนำให้เกษตรกรทำการแช่ปลาในสารเคมีบางชนิด เช่น ฟอร์มาลิน ซึ่งเป็นสารที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการกำจัดเชื้อปรสิต และไม่เป็นอันตราย หรือตกค้างในตัวปลา” ดร.จูอะดี กล่าว
       
 
ทั้งนี้ ฟอร์มาลินไม่ใช่สารต้องห้าม แต่เป็นสารที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคผิวหนังของสัตว์น้ำ ช่วยกำจัดเชื้อ หรือปรสิตของปลา ด้วยความเข้มข้นต่ำมากเพียง 100 ppm (100 ส่วนในล้านส่วน) หรือเท่ากับฟอร์มาลิน 100 ซีซี ต่อน้ำ 1 ตัน ก็เพียงพอในการรักษาอาการได้แล้ว ขณะเดียวกัน ฟอร์มาลินยังเป็นสารที่ระเหยง่ายมาก จะสลายไปในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ตกค้างในตัวปลา ผู้บริโภคจึงไม่ต้องกังวล ที่สำคัญคือ ไม่มีความเป็นไปได้เลยที่เกษตรกรจะฉีด/คลุกเคล้าฟอร์มาลินกับปลาก่อนขายหรือส่งตลาด  เนื่องจากสารดังกล่าวจะเข้าไปทำลายอวัยวะภายในของปลาจนไม่สามารถเลี้ยงต่อ หรือนำมาจำหน่ายได้ ดังนั้น จึงขอให้หยุดส่งต่อข้อความที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะสร้างความเสียหายต่อผู้เลี้ยงปลา และส่งผลต่อผู้บริโภค
       
ขณะที่  นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวเสริมว่า การเลี้ยงปลานั้นหากไม่ป่วยก็จะไม่มีการใช้ยา หรือสารใดๆ ต่อปลา แต่หากจำเป็นจะรักษาแผลที่ผิวหนังของปลาด้วยการแช่ปลาในฟอร์มาลิน ซึ่งสามารถทำได้ตามสัดส่วนที่กำหนดเพื่อกำจัดเชื้อปรสิตภายนอก
       
        สำหรับการคลุกเคล้าฟอร์มาลีน กับตัวปลาก่อนส่งตลาดเพื่อฆ่าแบคทีเรีย ให้ดูสดเสมอ และอยู่ได้นานๆนั้นตามที่ถูกกล่าวอ้างนั้นไม่มีใครเขาทำกัน เพราะจะทำให้เนื้อเยื่ออวัยวะถูกทำลาย โปรตีนจะเปลี่ยนสภาพ เนื้อปลาจะมีลักษณะแข็ง ไม่สด ไม่น่ารับประทาน และไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น จึงไม่มีใครนำฟอร์มาลีมาฉีดให้ปลาหรือคลุกเคล้ากับปลาเพื่อการดังกล่าว เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย หาซื้อก็ยาก การดำเนินการ/จัดการก็ลำบาก ฯลฯ
       
“ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลามีการพัฒนาด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น นวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบ “โปร-ไบโอติก” (Pro-Biotic Farming) เพื่อการผลิตสัตว์น้ำปลอดสารสู่การบริโภคที่ปลอดภัย โดยอาศัยหลักการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ด้วยการจัดการภายในบ่อเลี้ยงให้ดี เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย และโปรโตซัวที่จะกระทบต่อสุขภาพสัตว์น้ำ ควบคู่กับการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทำให้สัตว์น้ำแข็งแรง และมีภูมิต้านทานป้องกันตัวเองได้” นายอดิศร์ กล่าว
       
ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายข้อสงสัยเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุถึงภาพที่อ้างว่าเป็นการฉีดฟอร์มาลินให้แก่ปลาว่า ไม่ใช่ความจริง ภาพดังกล่าวเป็นเพียงการฉีดวัคซีนให้แก่ปลาขนาดเล็ก ราว 30-50-100 กรัม เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ก่อนเกษตรกรจะนำไปเลี้ยงต่อให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการต่อไป
 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ส.ค. 2559 เวลา : 17:26:54

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 3:03 am