ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กฟน. เริ่มรื้อถอนเสาไฟฟ้าเปลี่ยนสายอากาศเป็นสายใต้ดินถนนราชวิถี


 


วันนี้ (1 กันยายน 2559) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกับผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดงานแถลงข่าวการรื้อถอนเสาไฟฟ้าบริเวณถนนราชวิถี ตามแผนงานโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ถ.ราชวิถี เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ณ บริเวณห้องประชุมอาคารแหล่งชุมนุมนายทหารโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถ.ราชวิถี
 
นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ตามที่ กฟน. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 4 หน่วยงาน เป็นผลให้การดำเนินงานดังกล่าว ประสบผลสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ โดยการรื้อถอนเสาไฟฟ้าในวันนี้ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของโครงการฯ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ขั้นตอนการดำเนินงาน เริ่มจากการออกแบบ วางแผนงาน เข้าพื้นที่ ก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าแรงกลาง พร้อมติดตั้งสายไฟฟ้าใต้ดินแรงกลาง ก่อสร้างท่อสายไฟฟ้าแรงต่ำบนทางเท้าพร้อมกับการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสาร เปลี่ยนระบบการจ่ายไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมต่อให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ติดตั้งโคมไฟถนนใหม่ ไปจนถึงการรื้อถอนเสาสายไฟฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย กฟน. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ด้วยดี
 
 
โดย กรุงเทพมหานคร ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในระหว่างการดำเนินงาน ขณะที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการ วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นเพื่อให้การจราจรเกิดความคล่องตัว และประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการ และกำหนดนโยบายให้ผู้ประกอบการดำเนินการนำสายสื่อสารทั้งหมดลงใต้ดิน โดยมี บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างเพื่อรองรับการนำสายสื่อสารทั้งหมดลงใต้ดิน อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมีปัญหาอุปสรรคในบางส่วน แต่การดำเนินโครงการถนนราชวิถีซึ่งเป็นโครงการต้นแบบในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน จะทำให้ได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์ในการปรับปรุงการดำเนินงานในโครงการอื่นๆ ต่อไป
 
ทั้งนี้ การกำหนดกรอบการดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 ปี ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้น กฟน. จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนดในพื้นที่ที่ไม่ติดปัญหา ยกเว้นพื้นที่บางส่วนที่ซ้อนทับกับโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งจะต้องมีการประสานแผนทำงานร่วมกันต่อไป สำหรับโครงการที่จะดำเนินการต่อจาก ถ.ราชวิถี ในปี 2559 นี้คือ ถนนราชปรารภ ศรีอยุธยา โยธี เพชรบุรี และพระราม 1 ซึ่ง กฟน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วโดยให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
 
 

LastUpdate 01/09/2559 17:42:18 โดย : Admin

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:52 am