ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
โพลระบุปชช.48.92% เคยรับโทรศัพท์จากแก๊ง call center มากกว่า 2 ครั้ง ส่วนใหญ่รู้ทันโทรมาหลอกลวง


 


ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการถูกกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ (แก๊ง call center) หลอกลวงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 8 กันยายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,157 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ปัญหากลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์หรือแก๊ง call center นั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องและได้ปรากฎข่าวอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวจะมีพฤติกรรมในการหลอกลวงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมโดยจะทำทีเป็นแจ้งปัญหาเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อและพูดจาหว่านล้อมจนเหยื่อเกิดความหลงเชื่อปฏิบัติตามข้อแนะนำของกลุ่มมิจฉาชีพจนถูกหลอกลวงให้ต้องศูนย์เสียเงินฝากในบัญชีธนาคารที่ตนเองมีอยู่ไป ด้วยเหตุดังกล่าวดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินโดยเฉพาะสถาบันทางการเงินทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ต่างๆตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมสรรพากร จึงได้ออกมาชี้แจงให้กับสาธารณะได้รับทราบถึงขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติรวมถึงข้อมูลที่ถูกต้องหากเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงิน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีข่าวปรากฎอยู่เป็นระยะเกี่ยวกับผู้เสียหายที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์หลอกลวงในการทำธุรกรรมทางการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการปราบปรามจำกุมอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหากลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์หรือแก๊ง call center นั้นก็ยังคงไม่หมดไปและยังคงปรากฎผู้เสียหายที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวหลอกลวงอยู่อย่างต่อเนื่อง จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการถูกกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ (แก๊ง call center) หลอกลวงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน 

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.82 เพศชายร้อยละ 49.18 อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการรับโทรศัพท์ติดต่อจากกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์หรือแก๊ง call center เพื่อหลอกลวงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินนั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.92 ระบุว่าตนเองเคยได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ (แก๊ง call center) เพื่อทำการหลอกลวงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินมากกว่า 2 ครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.83 ระบุว่าเคยได้รับประมาณ 1 ถึง 2 ครั้ง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.25 ระบุว่าตนเองไม่เคยได้รับเลย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.25 ระบุว่าตนเองเคยรับรู้ข่าวที่มีผู้เสียหายจากการถูกกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์หลอกลวงในการทำธุรกรรมทางการเงินมาก่อนที่จะได้รับโทรศัพท์จากกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านั้นเป็นครั้งแรก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.75 ระบุว่าไม่เคยรับรู้มาก่อน

สำหรับความรู้สึกและความเชื่อในการรับโทรศัพท์เกี่ยวกับการแจ้งปัญหาจากการทำธุรกรรมทางการเงินนั้น ครั้งแรกที่ได้รับโทรศัพท์เป็นเสียงตอบรับอัตโนมัติแจ้งเกี่ยวกับปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การถูกอายัดบัญชีเงินฝาก การถูกแจ้งหนี้ชำระบัตรเครดิต การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากธนาคาร เป็นต้น กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.77 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกตกใจ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.7 ไม่รู้สึกตกใจ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.53 ระบุว่าตนเองรู้สึกงงๆไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.84 ระบุว่าครั้งแรกที่ได้รับโทรศัพท์เป็นเสียงตอบรับอัตโนมัติแจ้งเกี่ยวกับปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การถูกอายัดบัญชีเงินฝาก การถูกแจ้งหนี้ชำระบัตรเครดิต การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากธนาคาร เป็นต้น ตนเองไม่เชื่อข้อมูลเหล่านั้นทันที ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.78 ยอมรับว่าตนเองเชื่อทันที โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.38 ระบุว่าตนเองยังไม่แน่ใจ 

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.08 ทราบ/มั่นใจว่าโทรศัพท์ที่ได้รับเพื่อแจ้งปัญหาเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินนั้นเป็นการหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ (แก๊ง call center) ทันทีที่ตนเองได้รับโทรศัพท์ รองลงมาทราบขณะที่กำลังพูดคุยกับบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 23.74  

สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อจนถูกกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์หลอกลวงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินคือ ความกลัว/ความตกใจคิดเป็นร้อยละ 85.05 ขาดการไตร่ตรอง/ยั้งคิดคิดเป็นร้อยละ 81.68 ขาดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอน/วิธีดำเนินการของสถาบันการเงินคิดเป็นร้อยละ 79.43 ถูกกลุ่มมิจฉาชีพโน้มน้าวจนหลงเชื่อคิดเป็นร้อยละ 75.89 และเคยมีประวัติไม่ดีเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินมาก่อนคิดเป็นร้อยละ 73.98

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหากลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์หรือแก๊ง call center นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.14 มีความคิดเห็นว่าการนำข่าวเกี่ยวกับกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ (แก๊ง call center) กลับมาเผยแพร่ซ้ำอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อสาธารณะต่างๆจะมีส่วนช่วยลดจำนวนผู้เสียหายจากการถูกกลุ่มมิฉาชีพทางโทรศัพท์หลอกลวงได้  ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.18 มีความคิดเห็นว่าการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้องหากเกิดปัญหาต่างๆในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องจะมีส่วนช่วยลดจำนวนผู้เสียหายจากการถูกกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์หลอกลวงได้  
 
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.4 มีความคิดเห็นว่ากลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ที่ถูกว่าจ้างให้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่/เปิดบัญชีรับเงินโอนจากผู้เสียหายควรได้รับโทษรุนแรงเท่ากันกับผู้ว่าจ้าง  แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.27 ไม่เชื่อว่าปัญหากลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ที่มีพฤติกรรมหลอกลวงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินจะได้รับการจัดการแก้ไขให้หมดไปได้
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ย. 2559 เวลา : 09:18:55

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:10 pm