ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
โพลระบุ 'ขาดวินัย-ไร้จิตสำนึก'ต้นเหตุของปัญหารถติดในไทย


 



เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (Super Poll) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง 'โพลรถติด' สอบถามกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะ ผู้โดยสาร และคนเดินเท้า รวม 1,195 คน ระหว่างวันที่ 13-16 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา 

เมื่อถามถึงระดับปัญหารถติดพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.20 มองว่าปัจจุบันการจราจรติดขัดเป็นปัญหาเข้าขั้นรุนแรงมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 22.90 มองว่าอยู่ในขั้นปานกลาง มีเพียงร้อยละ 5.90 เท่านั้นที่มองว่าเป็นปัญหาน้อยมากหรือไม่เป็นปัญหาเลย
          
เมื่อสอบถามถึงสาเหตุของรถติด พบ 10 สาเหตุที่ทำให้รถติด ได้แก่ ไม่มีวินัย ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่ต่อคิว ตัดหน้า ชอบเบียด ชอบแทรก ร้อยละ 96.5   รองลงมาคือ ร้อยละ 92.9 ผู้ระบุว่าผู้ขับขี่ยานพาหนะขาดจิตสำนึก จะทำตามกฎจราจรก็ต่อเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ,อันดับ 3 พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ร้อยละ 91.90 อันดับ 4 ไม่มีน้ำใจ ไม่ให้ทางกัน ร้อยละ 90.20 และอันดับ 5 มองว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลยพินิจหลายมาตรฐาน เพ่งเล็งแต่รถกระบะ แท็กซี่ สามล้อ จักรยานยนต์ แต่มักละเลยรถยนต์หรูราคาแพง ร้อยละ 78.30

ส่วนความเห็นต่อการใช้มาตรา 44 จัดระเบียบจราจร ร้อยละ 50.9 เห็นด้วย เพราะจะทำให้คนมีวินัย เคารพกฎจราจร มากขึ้น โดยขอให้เป็นมาตรการเอาผิดได้ทั้งประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐและผู้บริหารที่เป็นต้นเหตุของปัญหารถติด เกิดความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน และการร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ กับภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น  ขณะที่ร้อยละ 49.1 ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่น่าจะจัดระเบียบได้จริง จะยิ่งทำให้รถติดมากขึ้น เกิดความวุ่นวาย ขาดน้ำใจต่อกัน ไม่ยอมกัน ต่างคนต่างกลัวความผิด เกิดการเลือกปฏิบัติ และมาตรา 44 ไม่สามารถใช้ได้กับทุกปัญหา ปัญหารถแว้นยังแก้ไม่ได้ น่าจะใช้การรณรงค์และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังต่อเนื่องมากกว่า ปัญหาอยู่ที่คนไม่ใช่ที่กฎหมาย เป็นต้น


เมื่อถามความเห็นต่อการเพิ่มโทษค่าปรับให้สูงขึ้น และนำเงินมาแก้ปัญหารถติดและความปลอดภัยบนถนนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารเงินค่าปรับประชาชนกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 72.70 เห็นด้วยหากจะมีการแก้ไขเพิ่มโทษในส่วนของอัตราค่าปรับกรณีทำผิดกฎจราจรให้สูงขึ้น และให้นำเงินค่าปรับนั้นมาแก้ปัญหาการจราจรรวมถึงความปลอดภัยบนท้องถนนในพื้นที่นั้นๆ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  

บุคคลและหน่วยงานที่ประชาชนเห็นใจที่สุดในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาจราจร คือ อันดับที่หนึ่งได้แก่ ตำรวจจราจร ร้อยละ 53.8 รองลงมาคือ ร้อยละ 31.2 ระบุ อาสาสมัครจราจร ในขณะที่ ร้อยละ 6.3 ระบุ ทหาร ร้อยละ 5.4 ระบุ กรุงเทพมหานคร และร้อยละ 3.3 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ย. 2559 เวลา : 15:44:40

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 8:21 pm