ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยนำวิสัยทัศน์ 'ผู้สูงวัยมีคุณค่า สังคมไทยร่วมดูแล มีสุขจนวาระสุดท้าย' เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ


 



ประเทศไทย วางนโยบาย “ผู้สูงวัยมีคุณค่า สังคมไทยร่วมดูแล มีสุขจนวาระสุดท้าย” เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสง่างาม เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตพร้อมจัดบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีผู้สูงอายุ

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม “Attaining Universal Health Coverage (UHC) focusing on Healthy and Active Ageing” ในระหว่างการประชุม G7 ณ เมืองโคเบะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะประเทศที่มีความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ และมีนโยบายที่ชัดเจนในการเตรียมการสู่สังคมสูงอายุ ทั้งด้านมุมมองเชิงนโยบายและประสบการณ์ในการเตรียมการก้าวสู่สังคมสูงอายุ ร่วมกับผู้นำด้านสุขภาพและผู้เชี่ยวชาญในระดับโลก อาทิ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้อำนวยการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศกลุ่ม G7 สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากสังคมผู้สูงอายุสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งมีระยะเวลาสั้นที่สุดในการเปลี่ยนผ่านคือ 16 ปี รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการเตรียมการเรื่องนี้เป็นลำดับต้น มีนโยบายและหลักแนวคิดสำคัญคือ “ผู้สูงวัยมีคุณค่า สังคมไทยร่วมดูแล มีสุขจนวาระสุดท้าย” เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสง่างาม โดยทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมดำเนินงาน รวมถึงภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านนโยบายเศรษฐกิจมหัพภาคที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ การสนับสนุนเบี้ยยังชีพ การยืดระยะเวลาเกษียณอายุ การลดค่าบริการรถโดยสารสาธารณะแก่ผู้สูงอายุ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถมีชีวิตที่กระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวาในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยความสะดวก
 
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นองค์กรหลักของประเทศในการดูแลสุขภาพประชาชน มีนโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยจัดให้มีบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การตรวจคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การผ่าตัดต้อกระจก การสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยฟัง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่า และการบริการทันตกรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในระยะยาว ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าในหลายด้าน โดยทำความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนมีกองทุนท้องถิ่นซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

บันทึกโดย : วันที่ : 18 ก.ย. 2559 เวลา : 14:41:51

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:15 am