ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เตือนเจ้าของสัตว์เลี้ยง นำสัตว์ไปฉีดวัคซีนกันโรคพิษสุนัขบ้า


 


โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ผู้ติดเชื้อและแสดงอาการแล้ว จะเสียชีวิตทุกราย ส่วนใหญ่เกิดจากถูกสุนัขหรือแมวกัด-ข่วน แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง  เตือนเจ้าของสัตว์เลี้ยงพาสุนัขและแมวของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสุนัขหรือแมวมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป  และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี และต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งเป็นสุนัขจรจัด

นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคพิษสุนัขบ้าว่า กรมควบคุมโรค ได้ระบุให้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นหนึ่งในโรคที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที อาการติดเชื้อหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคกัดหรือข่วน เริ่มจาก 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด

ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) ดังนั้น จึงฝากเตือนเจ้าของสัตว์เลี้ยงให้พาสุนัขและแมวของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสุนัขหรือแมวมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป  และฉีดเป็นประจำทุกปี ต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งเป็นสุนัขหรือแมวจรจัด

พร้อมทั้งใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า หากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์หรือสถานเสาวภาเพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2559 เวลา : 18:54:45

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 4:15 am