ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แถลงการณ์โกเบ เวที G7 รมต.สาธารณสุขหนุนสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับสังคมผู้สูงอายุ


 



ไทยร่วมประชุม G7 เวที รมต.สาธารณสุข วาระหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อผู้สูงอายุ ร่วมกับอีก 3 ประเทศที่ได้รับเชิญ สิงคโปร์ เมียนมา ลาว ร่วมออกแถลงการณ์โกเบ หนุนนานาประเทศเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วยการใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญและทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มประเทศ G7 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2559 ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ได้มีวาระการประชุมเรื่องการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ประเด็นของความร่วมมือระดับนโยบายในแถลงการณ์โกเบ ที่มุ่งเน้นผลสำเร็จของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อการส่งเสริมสุขภาพในทุกช่วงอายุ และเพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ  

ทั้งนี้ในเวทีการประชุมครั้งนี้ แม้ว่าไม่ได้เป็นประเทศในกลุ่ม G7 แต่ไทยก็เป็น 1 ใน 4 ประเทศพร้อมกับสิงคโปร์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมประชุมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วม มีบุคคลสำคัญจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้อำนายการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวนโยบายการดำเนินงานเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่กำลังมาถึงในแต่ละประเทศ
 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในเวทีนี้ เนื่องจากรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการเตรียมการเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในลำดับต้นๆ ภายใต้นโยบายและหลักการแนวคิดคือ “ผู้สูงวัยมีคุณค่า สังคมไทยร่วมดูแล มีสุขจนวาระสุดท้าย” โดยทุกภาคส่วนต้องเข้ามีส่วนร่วมเตรียมความพร้อมทุกด้าน ตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุ การสนับสนุนเบี้ยยังชีพ การยืดระยะเวลาเกษียณอายุ การลดค่าบริการโดยสาธารณะแก่ผู้สูงอายุ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ   

ขณะที่การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนที่สำคัญ เพื่อสนับสนุนหน่วยบริการจัดบริการสุขภาพที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุ อาทิ การตรวจคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การผ่าตัดตาต้อกระจก การสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยฟัง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่า และการบริการทันตกรรม โดยบริการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในผู้สูงอายุ
 

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สปสช.ยังมีความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงระยะยาวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน การจัดผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนที่ผ่านการอบรมการดูแลผู้สูงอายุดุจญาติมิตร รวมทั้งการมีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นที่ สปสช.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมสนับสนุนงบประมาณสำหรับดูแลสุขภาพคนในชุมชน

“จากข้อมูลประชากรประเทศ ขณะนี้ไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยมีจำนวนผู้สูงอายุ 10.7 ล้านคน หรือร้อยละ 16 ของประชากรประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าใน 20 ปีข้างหน้านี้ จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มถึง 20 ล้านคน หรือร้อยละ 30 ของประชากรประเทศ เป็นทิศทางเดียวกับสถานการณ์ประชากรทั่วโลกที่กำลังประสบอยู่ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพเพื่อรองรับ” รักษาการเลขาธิการ สปสช.กล่าว
 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า จากที่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ผู้แทนประเทศต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อการเตรียมพร้อมการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ ถือเป็นนโยบายสำคัญ ทั้งยังเห็นพ้องกันว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสุขภาพประเทศ รวมถึงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุนี้ ซึ่งต้องร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมกับการส่งเสริมวางแผนพัฒนาระบบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อเตรียมการสำหรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน พร้อมกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิตที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีในผู้สูงวัย

ทั้งนี้การประชุม G7 Health Minister รัฐมนตรีสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคม โดยมีประเทสญี่ปุ่นเป็นประธานการประชุม ซึ่งญี่ปุ่นเสนอให้ รัฐมนตรีสาธารณสุขแต่ละประเทศสมาชิกได้มาหารือประเด็นสุขภาพโลก โดยเฉพาะประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรคติตต่อที่มีอัตราการตายสูง เช่น การระบาดของโรคไข้ซิกาในบราซิล โรคอีโบล่าในทวีปแอฟริกา และญี่ปุ่นเสนอให้มีการหารือในประเด็นการมีสุขภาพดี การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในผู้สูงอายุ

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ย. 2559 เวลา : 13:39:30

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:02 pm