ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กระตุ้นคนไทยลดพฤติกรรม'เนือยนิ่ง'ผลวิจัยพบนั่งนานเสี่ยงโรคหัวใจ หลอดเลือด และสมอง


 


กรมอนามัยกระตุ้นคนไทยลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง หลังงานวิจัยต่างประเทศพบนั่งนานเสี่ยงโรคหัวใจ หลอดเลือด และสมอง
         
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพการทำงานและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนทั่วโลกมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือการอยู่ในท่านั่ง ท่านอน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเก้าอี้ทำงาน การนั่งประชุม การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และการนั่งหรือนอน ดูโทรทัศน์ และใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งการสำรวจพฤติกรรมคนไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ล่าสุดพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งไม่รวมการนอนหลับ วันละ 14 ชั่วโมง นอกจากนี้ ผลการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลร้ายต่อระบบการทำงานของร่างกายตั้งแต่การทำงานในระดับเซลล์ เช่น การหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลเสียไป การเผาผลาญน้ำตาล ไขมัน และพลังงานของร่างกายลดลง นำไปสู่โรคหัวใจ หลอดเลือด และสมอง ที่เป็นวิกฤติสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศไทย
 
        
 
ทางด้าน นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า คนไทยควรมีพฤติกรรมเนือยนิ่งให้น้อยที่สุด โดยลุกยืน เดินไปดื่มน้ำหรือเข้าห้องน้ำ หลังจากนั่งเก้าอี้ทำงานทุก 1 ชั่วโมง หรือการยืนทำงาน เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินหรือปั่นจักรยานมาทำงาน หรือการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน แทนรถส่วนตัว หรือจอดรถให้ไกลจากอาคาร มากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเปิดคลิป Active Meeting การยืดเหยียด 3 นาที ที่จัดทำโดยกรมอนามัย และ สสส. ทางเว็บไซต์ยูทูปเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อระหว่างพักครึ่งการประชุม ซึ่งทุกคนสามารถทำได้
         
ทางด้าน นางสาวอรณา จันทรศิริ นักวิจัยกิจกรรมทางกาย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติในปัจจุบัน มีการจัดรูปแบบการยืนประชุม โดยจัดเก้าอี้ให้น้อยลง และมีโต๊ะยืนให้ บริเวณด้านข้างและหลังห้องประชุม นอกจากนี้ยังมีการลุกยืนปรบมือให้กับวิทยากรเมื่อบรรยายเสร็จสิ้น แม้กระทั่งการประชุมคู่ขนานในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกขององค์การอนามัยโลกครั้งล่าสุด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจากทั่วทั้งโลกเข้าร่วม ก็มีการลุกยืนปรบมือหลังผู้แทนแต่ละประเทศนำเสนอเสร็จ ซึ่งเท่ากับว่าผู้เข้าร่วมประชุมต้องลุกยืนทุก 5 นาที ตลอดระยะเวลาการประชุม 90 นาที แสดงให้เห็นว่าการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งสามารถทำได้ง่าย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.ย. 2559 เวลา : 11:54:58

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:13 pm