ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กสทช. ประชุมร่างมาตรฐานบริการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนพิการด้านกิจการโทรทัศน์


 


สำนักงาน กสทช. กำหนดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) มาตรฐานการให้บริการมาตรฐานด้านเทคนิค และความเหมาะสมของรูปแบบรายการกับบริการโทรทัศน์ที่มีบริการล่ามภาษามือคำบรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายภาพ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุม ชั้น ๑อาคารหอประชุม สำนักงาน กสทช. กรุงเทพฯ

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หน้า ๖ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๓๕ ง เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ซึ่งข้อ ๘ กำหนดเป็นหลักการให้ กสทช. กำหนดมาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานด้านเทคนิค และความเหมาะสมของรูปแบบรายการกับบริการโทรทัศน์ที่มีบริการล่ามภาษามือ      คำบรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายภาพ ทั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ในคราวประชุมครั้งที่ ๓๑/๒๕๕๙ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๙ ได้พิจารณา (ร่าง) มาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานด้านเทคนิค และความเหมาะสมของรูปแบบรายการกับบริการโทรทัศน์ที่มีบริการล่ามภาษามือ คำบรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายภาพ และมีมติให้นำร่างดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) จากผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ประกอบกิจการ แล้วนำเสนอที่ประชุม กสท. ต่อไป

สำนักงาน กสทช. จึงได้เชิญผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือ ดิจิตอลทีวี องค์กรแต่ละประเภทความพิการที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ฯลฯ สถาบันวิชาการซึ่งทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ในการจัดทำคู่มือเพื่อยกร่างมาตรฐานทั้ง ๓ บริการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัย    ธุรกิจบัณฑิตย์ รวมทั้ง หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ความคิดเห็นต่อ (ร่าง) มาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานด้านเทคนิค และความเหมาะสมของรูปแบบรายการกับบริการโทรทัศน์ที่มีบริการล่ามภาษามือ คำบรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายภาพ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุม ชั้น ๑ อาคารหอประชุม สำนักงาน กสทช. กรุงเทพฯ เพื่อเสนอต่อ กสท. พิจารณาต่อไป

อนึ่ง ดิจิตอลทีวีต้องจัดให้มีบริการ โดยมีเวลาตามบทเฉพาะกาล ๒ ปี และในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยประมาณ อย่างน้อยต้องมีสัดส่วนบริการในรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามประเภทการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต ดังนี้

(๑) บริการล่ามภาษามือ (Sign Language) หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีการบรรยายด้วยภาษามือในช่วงเวลาเดียวกับที่รายการมีเสียงพูด หรือเสียงประกอบเกิดขึ้น อย่างน้อยร้อยละ ๕ แต่ไม่น้อยกว่า ๖๐ นาที

(๒) บริการคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption) หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีคำบรรยาย                 เป็นอักษรวิ่ง หรือตัวอักษร สัญลักษณ์ ภาพ หรือทางเลือกอื่นที่แสดงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่รายการ                       มีเสียงพูด หรือเสียงประกอบ เกิดขึ้น และผู้รับชมสามารถเปิดหรือปิดบริการดังกล่าวด้วยตนเองได้ อย่างน้อยร้อยละ ๔๐ แต่ไม่น้อยกว่า ๑๘๐ นาที

(๓) บริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description) หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีคำบรรยาย                           ภาพด้วยเสียงหรือจัดให้มีบริการเสียงบรรยายภาพเพิ่มเติมเป็นพิเศษในบางช่วงเวลาของรายการที่ไม่มีเสียงบรรยายตามปกติ อย่างน้อยร้อยละ ๕ แต่ไม่น้อยกว่า ๖๐ นาที
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ก.ย. 2559 เวลา : 10:01:08

18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 10:56 am