ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมศุลฯมอบนโยบายเข้มอุดช่องโหว่รายได้ -ขจัดทุจริต


 

นายกุลิศ สมบัติศิริ  อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยหลังมอบนโยบายการทำงานในปีงบประมาณ 2560  แก่ผู้บริหารระดับสูงและนายด่านศุลกากรทั่วประเทศเมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) ว่า ปีงบประมาณ 2560 ต้องการให้เป็นปีแห่งการปฏิรูป   ทั้งในเรื่องของการจัดเก็บรายได้ที่ต้องปิดช่องโหว่  ขจัดทุจริต และการอำนวยความสะดวกทางการค้า แก่ผู้ส่งออกและนำเข้า

         
โดยปีงบประมาณ 2559  สามารถจัดเก็บรายได้ 1.11 แสนล้านบาท  จากเป้าการจัดเก็บทั้งปี 1.14 แสนล้านบาท  ต่ำกว่าเป้า 2.9%  ขณะที่ในปีงบประมาณ 2560 ได้ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 1.205 แสนล้านบาท  ซึ่งในปีงบ 2560  ตั้งเป้าที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะ 5 ด่านศุลกากร ที่มีสัดส่วนเก็บรายได้ 92% ต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ประกอบด้วย ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯ ด่านศุลกากรสำนักศุลกากรกรุงเทพฯ   สำนักงานตรวจสินค้าลาดกระบัง และสำนักงานตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  พร้อมทั้งจับตาสินค้าที่นำเข้าสูงสุด 8 ประเภท คือ รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องจักร, เวชภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์เหล็ก, เหล็ก, พลาสติก และสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด

"การตั้งทีมเฉพาะกิจกำกับและติดตามผลการจัดเก็บรายได้ จะช่วยให้กรมฯ จัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย และป้องกันการรั่วไหลของภาษีได้เพิ่มขึ้น เพราะจะให้มีการรายงานผลการจัดเก็บในทุกๆ 2 สัปดาห์ และจัดให้มีการประชุมด่านทั่วประเทศทุกเดือน  เพื่อดูว่าจัดเก็บเป็นอย่างไร มีจุดใดที่ยังรั่วไหลบ้าง" นายกุลิศกล่าว

นอกจากนี้ จะจัดให้มีการพบปะกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสินค้าใน 8 ประเภทที่มียอดนำเข้าสูงสุด เพื่อชี้แจงและหารือแนวทางการชำระภาษีอย่างถูกต้อง แบ่งเป็น 3 ประเภท ประเภทแรกเป็น ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มูลค่าชำระภาษีตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ประเภทที่สอง ผู้ประกอบการที่มีมูลค่าชำระภาษี 50-500 ล้านบาท  เป็นกลุ่มที่ต้องตรวจสอบการนำเข้าสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ประเภทที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการกระทำความผิด  ทั้งลักลอบนำเข้า และละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะการกระทำความผิดของตัวแทนของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในการดำเนินพิธีการศุลกากรแทนผู้นำเข้าและผู้ส่งออกซึ่งเป็นเจ้าของสินค้า หรือชิปปิ้ง ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่าหมื่นบริษัท แต่อยู่ในสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทยเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น โดยกรมฯได้ออกประกาศในเรื่องการดูแลการออกของชิปปิ้ง ปลอมแปลงเอกสาร และสำแดงราคาต่ำ เพื่อให้บริษัทชิปปิ้งทั้งหมดเข้ามาอยู่ในระบบรวบรวมฐานข้อมูล จะได้ควบคุมให้อยู่ในแนวทางและจะได้ไม่กระทำความผิด

อย่างไรก็ตามหากพบว่าบริษัทชิปปิ้งกระทำความผิดในการออกของ  จะดำเนินการงดรับพิธีการใน 30 วัน และหากยังดำเนินการผิดซ้ำอีก จะมีการเพิกถอนใบอนุญาต และดำเนินคดีตามกฎหมาย

รวมทั้งเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ กรมฯ ได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาในทุกระดับชั้นร่วมกันเฝ้าระวัง กำกับและสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ทุกรายไม่ให้กระทำที่ไม่ถูกต้องหรือส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่กระทำความผิดก็จะถูกย้ายภายใน 24 ชั่วโมง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนทันที ก่อนที่จะส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงโทษ
 
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ต.ค. 2559 เวลา : 07:28:23

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:50 pm