ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
JMTมั่นใจ พอร์ตบริหารหนี้โตแตะ 1.1 แสนลบ. ได้ตามเป้า


 


JMT โดดเด่น รับสถาบันการเงินแห่ขายหนี้ด้อยคุณภาพช่วงโค้งสุดท้ายของปี  มั่นใจ พอร์ตบริหารหนี้โตแตะ 1.1 แสนลบ. ได้ตามเป้า

JMT ผู้นำธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ประกาศซื้อหนี้เสียเข้าพอร์ตเพิ่มอีก 705 ลบ. จากธนชาต หนุนพอร์ตบริหารหนี้ในปัจจุบันอยู่ที่กว่า 9.5 หมื่นลบ. จากเป้าที่วางไว้สิ้นปีนี้ 1.1 แสนลบ. “ปิยะ พงษ์อัชฌา” แม่ทัพใหญ่ พร้อมเดินหน้าซื้อหนี้เสียเข้าพอร์ตต่อเนื่อง แถมช่วงโค้งสุดท้ายของปี สถาบันการเงินเตรียมเทขายหนี้ออกมาเยอะ จึงมั่นใจทั้งปีซื้อหนี้ได้ตามแผน ประกอบกับการเปลี่ยนวิธีรับรู้รายได้หนี้ที่ซื้อมาบริหารด้วย IRR โดยขยายเวลาจาก 5 ปี เป็น 10 ปี จะสะท้อนศักยภาพธุรกิจให้เห็นชัดเจนมากขึ้น 

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ บริหารหนี้ด้อยคุณภาพระดับแนวหน้าของไทย กล่าวถึง ภาพรวมธุรกิจบริหารหนี้ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเดินหน้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร และความสามารถในการจัดเก็บหนี้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ ล่าสุด บริษัทฯ ได้ประกาศลงนามซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคาร ธนชาต จำกัด (มหาชน) มูลค่า 705 ล้านบาท สนับสนุนให้ปัจจุบัน JMT ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารแล้วจำนวนกว่า 9.5 หมื่นล้านบาท มั่นใจสิ้นปี 2559 JMT จะมีพอร์ตบริหารหนี้แตะ 1.1 แสนล้านบาทตามแผนที่วางไว้ได้

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี สถาบันการเงินจะนำหนี้เสียออกมาขายค่อนข้างเยอะ เป็นโอกาสของ JMT ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรายใหญ่ของประเทศไทยมากว่า 20 ปี มีศักยภาพในการบริหาร มีเงินทุน และได้รับความไว้วางใจจากสถาบันการเงินต่าง ๆ มากมาย ทั้ง Bank และ Non-Bank อีกทั้ง ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา JMT ได้คู่ค้าใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น นับเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ JMT เข้าไปซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารได้อีกมาก 

“นโยบายของ JMT คือ จะซื้อหนี้ที่เรามีประสบการณ์ และคัดสรรหนี้ที่มีคุณภาพ ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนตามที่กำหนดไว้ โดยคาดว่าปีนี้จะใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท เพื่อไปซื้อหนี้ 2 หมื่นล้านบาทได้ตามแผน หรือสิ้นปีนี้จะมีพอร์ตบริหารหนี้แตะ 1.1 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2558 มีพอร์ตบริหารหนี้ราว 9 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมีสัดส่วนพอร์ตการบริหารหนี้ในหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตอยู่ที่ประมาณ 60% ขณะที่อีกประมาณ 40% 
จะเป็นหนี้สินเชื่อรถยนต์” นายปิยะ กล่าว

นายปิยะ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีการขายหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง หนี้ที่ขายออกมามีความหลากหลาย โดยเฉพาะหนี้สินเชื่อบ้านที่มีการขายขาดทุนออกมามากขึ้น และจากนี้ไปมองว่าหนี้ประเภทนี้จะถูกนำออกมาขายมากขึ้น เป็นอีกโอกาสสำคัญของ JMT ซี่งมีแผนจะไปรุกตลาดหนี้สินเชื่อบ้านในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ปัจจัยสนับสนุนจากการเปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้ทางบัญชี โดยเปลี่ยนการคำนวณการรับรู้รายได้ด้วย IRR เป็นแบบเฉลี่ย จากเดิมที่ใช้ IRR คงที่ และยืดระยะเวลาในการคำนวณ IRR เป็น 10 ปี จากเดิม 5 ปี ทำให้ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญจากเงินลงทุนลดลง และทำให้การรับรู้รายได้ทางบัญชีสอดคล้องกับเงินสดที่เก็บมาได้มากขึ้น 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ต.ค. 2559 เวลา : 14:55:45

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:04 pm