ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นายกฯลงพื้นที่พบปะและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนถูกน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เสนา


 


นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่พบปะมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ระบุขอให้ชาวอยุธยาอดทน ร่วมมือกับรัฐปฏิบัติตามแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการรับน้ำเข้าพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก

วันนี้ (5 ตุลาคม 2559) เวลา 13.00 น. ณ บริเวณวัดโบสถ์ล่าง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ อาทิ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมพบปะและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเสนา พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และประชาชนคอยให้การต้อนรับ

นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า ตามที่กรมชลประทานได้ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาสูงสุด ในอัตรา 1,998 ลบ.ม./วินาที เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 และเขื่อนพระรามหกได้ระบายน้ำในอัตรา 491.12 ลบ.ม./วินาที ทำให้มีบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ริมแม่น้ำน้อย คลองบางหลวง คลองบางบาล และแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเขตคันกั้นน้ำ ในพื้นที่อำเภอเสนา บางบาล ผักไห่ พระนครศรีอยุธยา บางไทร บางปะอิน และริมคลองบางพระครู ในพื้นที่อำเภอบางปะหัน ได้รับผลกระทบ ดังนี้ บ้านเรือนได้รับผลกระทบ รวม 7 อำเภอ 81 ตำบล 461 หมู่บ้าน 22,075 ครัวเรือน ศาสนสถาน โรงเรียนและสถานที่ราชการได้รับผลกระทบ รวม วัด 24 วัด มัสยิด 3 แห่ง โรงเรียน 15 แห่ง สถานีอนามัย 4 แห่ง

สำหรับข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีดังนี้ ใน 6 อำเภอ ฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอบางซ้าย อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง ให้ทำนาได้ 2 ครั้ง ดังนี้ รอบที่ 1 ดำเนินการทำนาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม – 15 มกราคม หลังจากน้ำลดให้ทำนาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี โดยใช้ข้าวอายุ 120 วัน เช่น ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมสุพรรณ ข้าวพิษณุโลก เป็นต้น และเก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 15 เมษายน รอบที่ 2 ดำเนินการทำนาตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน – 15 พฤษภาคม โดยใช้ข้าวอายุ 120 วัน เช่น ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมสุพรรณ ข้าวพิษณุโลก เป็นต้น และเก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่ 15 สิงหาคม – 15 กันยายน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 16 กันยายน ทางชลประทานสามารถปล่อยน้ำเข้าไปในทุ่งทั้งหมด ได้แก่ ทุ่งป่าโมก ปริมาณน้ำที่เก็บได้ 75 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งผักไห่ ปริมาณน้ำที่เก็บได้ 300 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งบางบาล ปริมาณน้ำที่เก็บได้ 130 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งเจ้าเจ็ด ปริมาณน้ำที่เก็บได้ 640 ล้าน ลบ.ม. โดยปล่อยเข้าไประดับ 1.50 เมตร แล้วทำการปล่อยปลาเข้าไปในทุ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นช่วงเดือนธันวาคมจะเริ่มทำนาในระยะที่ 1 รวมปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บได้ปริมาณ 1,150 ล้าน ลบ.ม. เป็นพื้นที่การเกษตรรวมทั้งสิ้น 627,450 ไร่ โดยจะต้องให้เกษตรกร ชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และอำเภอจัดทำบันทึกข้อตกลง และจะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่ประกาศการบริหารจัดการน้ำที่จะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย และมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเสนา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีความเปลี่ยนแปลงทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติต่าง ๆ จึงขอให้ทุกคนเตรียมพร้อมปรับสภาพให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปิดใจให้กว้างเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่ายึดติด ติดกับดักกับสิ่งเดิม ๆ เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศ ทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่การเจริญเติบโต ให้เกิดการยอมรับของประเทศต่าง ๆ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการสร้างห่วงโซ่ขึ้นมาใหม่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก นำนวัตกรรมมาช่วยในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร ซึ่งภาครัฐและประชาชนต้องร่วมมือกันในรูปแบบของประชารัฐ

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะต้องมีการบริหารจัดการทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหา โดยจะต้องดูปริมาณน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือ รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาด้วย และเพื่อให้ประเทศเกิดความเสียหายน้อยที่สุดจากปัญหาอุทกภัย จึงขอให้ชาวอยุธยาอดทน และ ร่วมมือกับรัฐปฏิบัติตามแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการรับน้ำเข้าพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลทราบดีถึงความกังวลใจ และความเดือดร้อนของประชาชนจากน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกที่กำลังจะเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งรัฐบาลจะได้พิจารณาหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบายน้ำรัฐบาลจะช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาตามปกติต่อไป ขณะที่ในส่วนของปัญหาหนี้สินจากการเกษตร รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และจะดูแลอย่างดีที่สุด พร้อมทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั้งประเทศ เพียงแต่ต้องใช้เวลา โดยในอนาคตต้องการให้ทุกคนหลุดพ้นจากวังวนเดิม จึงขอให้ทุกคนร่วมมือกับรัฐบาลช่วยกันปฏิรูปประเทศให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะลงเรือ ณ ท่าเรือวัดโบสถ์ล่าง เพื่อพบปะเยี่ยมเยียน สอบถามความเป็นอยู่และให้กำลังใจ พร้อมมอบถุงยังชีพให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ก่อนจะเดินทางต่อไปยังจังหวัดชัยนาท เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไป

 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ต.ค. 2559 เวลา : 15:54:53

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:19 pm