ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ศาลฎีกายกฟ้อง ' เริงชัย'อดีตผู้ว่าธปท.ไม่ผิดป้องค่าเงินบาทปี 2540


 

ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก วันนี้ (5 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) และกองทุนรักษาระดับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้องนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่า ธปท. เป็นจำเลย เรื่องละเมิด จากกรณีออกคำสั่งทำธุรกรรมใช้เงินทุนสำรองไปปกป้องค่าเงินบาท (สวอป) เพื่อปกป้องค่าเงินบาท เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัว ปี 2540 อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเรียกค่าเสียหาย เป็นเงินจำนวน 186,015,830,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

โดยวันนี้นายธนกร แหวกวารี รับมอบฉันทะจากนายเริงชัย มาฟังคำพิพากษา ซึ่งคดีทางแพ่งจำเลยไม่ต้องเดินทางมาศาลเองได้

นายธนกร แหวกวารี ผู้รับมอบฉันทะนายเริงชัย เปิดเผยภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง โดยเห็นว่าการกระทำของนายเริงชัย ไม่ได้เป็นการกระทำละเมิด และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 1.8 แสนล้านบาท เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงถือว่าผลคดีเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกา

นายนพดล หลาวทอง ทนายความของนายเริงชัย กล่าวว่า เมื่อผลคดีเป็นที่ยุติแล้วว่านายเริงชัย ไม่ได้กระทำการให้เสียหายตามฟ้อง ทั้งนี้ยังไม่เคยมีการหารือกับนายเริงชัยว่า จะดำเนินคดีกลับบุคคลหรือหน่วยงานใดที่สอบคดีนี้จนมีการกล่าวหานายเริงชัยหรือไม่ ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นการล้างมลทินแล้วที่ต้องต่อสู้คดีมายาวนานถึง 15 ปี โดยนายเริงชัยไม่เคยถูกกล่าวหาคดีทางอาญาว่าทุจริต เพียงแต่มีการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งการสู้คดีได้ยืนยันแล้วว่านายเริงชัย ได้กระทำตามหน้าที่ขณะนั้นอย่างระมัดระวังที่สุดแล้ว
 

คดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อ 12 ธ.ค.2544 ระบุว่า ขณะนายเริงชัยเป็นผู้ว่าการ ธปท. และกรรมการกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในปี 2539-2540 ได้อนุมัติให้นำเงินทุนสำรองทางการ แทรกแซงในตลาดเงินตราเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาททำให้ ธปท.ต้องรับภาระส่งมอบเงินดอลลาร์ จากการทำธุรกรรมขายดอลลาร์ในตลาดเงินตราคิดเป็นเงินบาทถึง 193,812.59 ล้านบาท แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (สวอป) ในช่วงวันที่ 1พ.ย.39 - 30 มิ.ย.2540 มีผลกำไร 7,298.771 ล้านบาท หักออกจากความเสียหายทั้งหมดแล้ว จำเลยต้องรับผิดชดใช้ในส่วนขาดทุน ในการทำธุรกรรมดังกล่าว ให้โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 185,953,740,000 บาทนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน62,090,720 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นทุนทรัพย์ที่ฟ้องเป็นเงิน 186,015,830,720 บาท ขอให้ศาลออกหมายเรียกจำเลยมาพิจารณาพิพากษา พร้อมทั้งให้จำเลยชำระเงินจำนวน186,015,830,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
          
ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2548 ให้นายเริงชัย   จำเลยใช้เงิน 185,953,740,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2541 แก่ ธปท. โจทก์ที่ 1 และยกฟ้องกองทุน ฯ โจทก์ที่ 2 เนื่องจากไม่มีหน้าที่ทำธุรกรรมค่าเงินบาท
  
นายเริงชัย ได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2553 พิพากษากลับให้ยกฟ้องนายเริงชัย เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของนายเริงชัยขณะนั้นไม่ได้เป็นการกระทำโดยประมาท แต่เป็นไปตามวิสัยที่เกิดขึ้นขณะนั้นตามความเหมาะสม และการพิจารณาถึงมาตรการใด ๆ ก็ได้หารือในคณะ ไมใช่การตัดสินใจด้วยความประมาทเลินเล่อเพียงลำพัง

 
 

LastUpdate 05/10/2559 18:14:54 โดย : Admin

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:57 pm