ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อย.ย้ำอย่าหลงเชื่อโฆษณาเกินจริงทางสื่อสังคมออนไลน์ เตือน'ดารา -นักร้อง'โฆษณาเกินจริงถูกดำเนินคดีด้วย


 


อย. เตือนภัยผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริงทางสื่อสังคมออนไลน์พบหลายเว็บไซต์อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงจำนวนมากโดยเฉพาะการโฆษณาแนะนำสินค้าของบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง พบไม่น้อยที่โอ้อวดเกินความเป็นจริง แนะผู้บริโภคก่อนซื้อก่อนใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน

 
เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ โฆษก อย. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจสอบและเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคหลายรายเกี่ยวกับการโฆษณาทางสื่อออนไลน์ ล่าสุดพบบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง โฆษณาแนะนำสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ เครื่องสำอาง เข้าข่ายอวดอ้างสรรพคุณเกินความจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์
 
โดยพบว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณ ในทำนองว่า "ถูกใจวัยทำงาน ไม่มีเวลาออกกำลังกายก็ลดได้ #ท้าพิสูจน์ 10 วัน 2-5 โล สูตรดื้อยาสำหรับคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย #ขนมระเบิดไขมัน เห็นผลมากที่สุด รีวิวนับแสนดาราหลายท่านบอกอร่อย #ของแท้จากบริษัทอร่อยทานง่ายเพียง ฉีก เท อม เคี้ยว รับรองคุณจะตัวเล็กลงจนรู้สึกได้ อยากเปลี่ยนชีวิตคลิกเลย ทุกคนที่ใช้ คอนเฟิร์ม ลดนน. ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป"... เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์นี้ให้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาโฆษณาหวังจะกระตุ้นยอดขาย ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้เป็นข้อความที่โอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภค หากนำไปใช้อาจไม่ได้ผล และ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ย้ำเตือนบุคคลที่มีชื่อเสียงทุกรายอย่าโฆษณาเกินขอบข่ายที่ อย.กำหนด หากฝ่าฝืน อย.จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
      
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานโดยตรง นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักเพื่อเสริมสารบางอย่างและมีจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ ไม่ใช่ผู้ป่วย และไม่ควรให้เด็กและสตรีมีครรภ์รับประทาน แต่หากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก่อนตัดสินใจซื้อ ต้องตรวจสอบข้อมูลโฆษณาให้แน่ชัด และตรวจสอบข้อความบนฉลาก ซึ่งต้องแสดงข้อความภาษาไทย ได้แก่ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า (ในผลิตภัณฑ์นำเข้าต้องระบุประเทศผู้ผลิตด้วย) ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และ/หรือวันเดือนปีที่หมดอายุ เป็นต้น และสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอก ไม่มีผลต่อโครงสร้างใด ๆ ของร่างกาย การเลือกซื้อควรซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน เชื่อถือได้ เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้น สามารถติดต่อหาผู้รับผิดชอบได้ ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทย ซึ่งแสดงข้อความบังคับครบถ้วนชัดเจน เช่น ชื่อเครื่องสำอาง เลขที่ใบรับแจ้ง วิธีใช้ สารที่เป็นส่วนผสม เดือนปีที่ผลิต และ/หรือ เดือนปีที่หมดอายุ เป็นต้น อย่าซื้อเครื่องสำอางจากรถเร่ แผงลอย หรือผู้ขายเร่ขายตรง ที่อ้างว่าใช้ได้ผลหายภายใน 3 วัน 7 วัน สรรพคุณเหล่านี้ล้วนเป็นอันตรายทั้งสิ้น
      
รองเลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า หากผู้บริโภคพบเห็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และ ผู้ขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายหรือหากได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือ Email:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปรามดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ต.ค. 2559 เวลา : 13:24:40

02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 5:04 am