ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พณ.มั่นใจนโยบายภาครัฐส่งเสริมร้านโชวห่วยเติบโตต่อเนื่อง-ลดค่าครองชีพได้จริง


 


ผู้บริโภคท้องถิ่นซื้อสินค้าผ่านร้านโชวห่วยมากขึ้น หลังภาครัฐปรับแนวทางบริหารจัดการธุรกิจใหม่ เร่งใช้เทคโนสมัยใหม่เชื่อมโยงเครือข่ายค้าส่ง-ค้าปลีก กระจายสินค้าให้ถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึง  มั่นใจ!! นโยบายภาครัฐส่งเสริมร้านโชวห่วยเติบโตต่อเนื่อง พร้อมลดค่าครองชีพได้จริง

ผู้บริโภคท้องถิ่นซื้อสินค้าผ่านร้านโชวห่วยมากขึ้น หลังภาครัฐปรับแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เชื่อมโยงเครือข่ายค้าส่ง-ค้าปลีก กระจายสินค้าถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยหลายรายปรับกลยุทธ์การตลาดกระจายสินค้าลงร้านค้าปลีกรายย่อยแต่ละชุมชนมากขึ้น มั่นใจ!! นโยบายภาครัฐส่งเสริมให้ร้านโชวห่วยเติบโตต่อเนื่อง พร้อมช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้จริง

 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับทิศทาง    การทำงานให้มีลักษณะเชิงรุก และมอบนโยบายให้พาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น พร้อมสำรวจราคาสินค้า และตรวจเช็คสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของแต่ละจังหวัดเป็นประจำทุกวัน เบื้องต้น จากการสำรวจฯ ทำให้ทราบว่า ผู้บริโภคท้องถิ่นมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้าปลีกรายย่อย (ร้านโชวห่วย) มากขึ้น โดยพบว่าผู้บริโภคซื้อสินค้าจากร้านโชวห่วยในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจากประมาณเดือนละ 1 ครั้ง เป็น 2-3 ครั้งต่อเดือน สินค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำปลา น้ำมันพืช น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก แชมพู สบู่ก้อน ยาสีฟัน ฯลฯ เป็นต้น

การที่ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจับจ่ายใช้สอยผ่านร้านโชวห่วยในชุมชนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมา    จากการที่ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนร้านค้าส่งค้าปลีกที่มีศักยภาพและได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ให้เข้าร่วมโครงการ “ร้านฉลาดซื้อ ประหยัดใช้” และผลักดันให้แต่ละจังหวัดมี “ร้านค้าส่ง-ค้าปลีกต้นแบบ” เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านค้าโชวห่วยในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นจำหน่ายสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นหลัก และมีราคาถัวเฉลี่ยต่ำกว่าปกติ 10% ทำให้สามารถช่วยลดค่าครองชีพและเพิ่มเงินในกระเป๋าให้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มีการนำเทคโนโลยี ซอฟแวร์ (POS) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มนำร่องกับร้านค้าปลีกที่มีศักยภาพ และเพื่อช่วยกระจายสินค้าให้ถึงมือประชาชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีราคาประหยัดใกล้บ้าน โดยผลที่ได้นอกจากจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนแล้ว ยังช่วยทำให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และชุมชนมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชนทั้งประเทศ

ผลที่ได้จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากร้านโชวห่วยมากขึ้น สอดคล้องกับบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยหลายรายเริ่มมีการปรับกลยุทธ์การตลาดที่เน้นกระจายสินค้าลงร้านค้าปลีกรายย่อยแต่ละชุมชนมากขึ้น รวมทั้ง มีการปรับโครงสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่เน้นร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกในท้องถิ่นมากขึ้นในอัตราส่วนที่สมดุลกับไฮเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ และร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์

 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันให้ “ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก” เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก ช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นฐานในแต่ละท้องถิ่นให้มีความคึกคัก โดยมีการร่วมมือกับหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจในการพัฒนายกระดับคุณภาพธุรกิจค้าส่งค้าปลีกให้มีมาตรฐานเป็น      ที่ยอมรับ มีการดำเนินกิจกรรมแบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการตลาด ได้แก่ 1.1 1.2 การปรับภาพลักษณ์ร้านค้าปลีกให้มีความทันสมัย โดยมีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการ และปรับปรุงร้านให้มีความทันสมัย (สวย สว่าง สะอาด สะดวก สบาย) 1.2 การจัดงาน “ค้าส่งรวมใจ โชวห่วยไทยคู่สังคม” เพื่อขยายโอกาสทางการค้า เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง และเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดค่าครองชีพแก่ประชาชน

2. ด้านการเสริมสร้างความรู้ ได้แก่ 2.1 ส่งเสริมการนำเทคโนโลยี ซอฟแวร์ (POS) มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น ระบบขายหน้าร้าน การบริหารจัดการรายได้และค่าใช้จ่าย 2.2 การพัฒนาด้านการบริหารจัดการร้านค้าปลีก โดยให้ร้านค้ามีปลีกมีความเข้าใจระบบบริหารโลจิสติกส์ การบริหารยอดซื้อ-ขาย การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ฯลฯ

ปัจจุบัน “ร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ” มีจำนวนทั้งสิ้น 114 ร้านค้า 545 สาขา ครอบคลุม 65 จังหวัด ซึ่งพร้อม     ที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับร้านค้าปลีกโชวห่วยที่เป็นเครือข่ายกันอยู่ 19,200 ร้าน และในปี 2560 กระทรวงฯ มีเป้าหมาย   ที่จะขยายร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 30 ร้านค้า ซึ่งสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับร้านค้าปลีกโชวห่วยเครือข่ายเพิ่มเติมได้อีก 6,000 ร้านค้า ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน

ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง มีอัตราการจ้างงานสูง คิดเป็นร้อยละ 27.5 หรือ ประมาณ 2.9 ล้านคน ของการจ้างงานทั้งประเทศ ซึ่งเป็นลำดับที่ 2 รองจากภาคบริการ และมีมูลค่าซื้อขายรวม 1.83 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.9 ของ GDP ซึ่งเป็นอันดับ 3 รองจากภาคบริการ (ร้อยละ 32.6) และ ภาคการผลิต (ร้อยละ 27.7)

  

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ต.ค. 2559 เวลา : 11:52:20

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:48 am