ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมวิทย์ฯ ร่วมสนองพระราชดำริในโครงการปรับปรุงบึงมักกะสัน


 


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมสนองพระราชดำริในโครงการปรับปรุงบึงมักกะสัน จัดทำโครงการศึกษาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคลำไส้ โครงการศึกษาชนิดและความชุกชุมของยุงพาหะนำโรคในบึงมักกะสัน รวมทั้งตรวจระดับตะกั่ว ในเลือดชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบบึง

 
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อเดือนเมษายน 2528 ให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันปรับปรุงบึงมักกะสันเพื่อใช้เป็นสถานที่กักเก็บน้ำ ช่วยในการระบายน้ำในหน้าฝน และบรรเทาสภาพน้ำเสียในคลองสามเสน โดยพระราชทานคำแนะนำให้ใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืช ที่มีอยู่มาก มีคุณสมบัติดูดซับความโสโครก และสารพิษจากแหล่งน้ำเน่าเสีย มาทำหน้าที่เป็นเครื่องกรองน้ำธรรมชาติ โดยในปี พ.ศ. 2530 – 2531 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าว จำนวน 3 โครงการ คือ การศึกษาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคลำไส้ในบึงมักกะสัน ดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2530 ถึงเดือนธันวาคม 2531 โดยเก็บตัวอย่างน้ำในบึงมักกะสันหลังการบำบัดน้ำเสียตามพระราชดำริแล้วมาตรวจหาแบคทีเรียก่อโรคลำไส้เป็นระยะๆ  ผลการตรวจ พบเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอหิวาตกโรค รวมทั้งเชื้อก่อโรคลำไส้และกระเพาะอาหารอักเสบชนิดไม่รุนแรงอื่นๆ

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า โครงการที่สอง คือ การศึกษาชนิดและความชุกชุมของยุงพาหะในบึงมักกะสัน เป็นการสำรวจลูกน้ำยุง และยุงตัวเต็มวัยในบึงมักกะสันและบริเวณใกล้เคียงในระหว่างเดือนธันวาคม 2530 ถึงเดือนกรกฎาคม 2531 ยุงที่พบเกือบทั้งหมด คือ มากกว่าร้อยละ 90 เป็นยุงรำคาญที่กัดกินเลือดในเวลากลางคืน ทำให้เกิดผื่นแพ้และเกิดความรำคาญ ซึ่งยุงรำคาญชนิดนี้มีแหล่งเพาะพันธุ์เป็นน้ำสกปรกที่ขังอยู่โดยเฉพาะตามใต้ถุนบ้าน สามารถทำให้ลดจำนวนลงได้ถ้าทำให้น้ำใต้ถุนบ้านสะอาดขึ้นโดยการไม่ทิ้งขยะไว้ใต้ถุนบ้านและมีการระบายน้ำที่ดี ส่วนยุงชนิดอื่นที่สำคัญที่พบคือ ลูกน้ำยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออกในภาชนะน้ำขังในบ้านเป็นการเตือนว่าประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีโอกาสป่วยเป็นไข้เลือดออกได้
 
 
 

 
สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการที่สาม คือ การศึกษาระดับตะกั่วในเลือดชาวบ้านบึงมักกะสัน เริ่มจากการวิจัยของกรมชลประทานตรวจพบธาตุโลหะหนักในปลาที่บึงมักกะสัน และพบปริมาณตะกั่วเกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขในพืชผักที่ปลูกจากปุ๋ยหมักบึงมักกะสัน อาทิ ผักบุ้ง ต้นหอม ผักคะน้า ต้นและใบผักกาดขาว กระหล่ำดอก มะเขือเทศ  ดังนั้นเพื่อให้ทราบว่าประชาชนที่อาศัยโดยรอบบึงมักกะสันได้รับอันตรายจากสารตะกั่วมากน้อยเพียงใด ในเดือนมกราคม 2530 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เก็บตัวอย่างเลือดจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน 3 แห่งโดยรอบบึงมักกะสัน  มานานกว่า 2 ปีขึ้นไป จำนวน 80 ราย มาทำการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณตะกั่วในเลือด พร้อมกับซักประวัติการย้ายภูมิลำเนาและอุปนิสัยการบริโภคพืชผักและปลา ผลการศึกษาพบว่า ระดับตะกั่วในเลือดชาวบ้านบึงมักกะสันอยู่ในเกณฑ์ปกติ

 
“การศึกษาวิจัย เป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการศึกษาวิจัยนำมาซึ่งองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน  ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  9 ของปวงชนชาวไทย” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ต.ค. 2559 เวลา : 10:37:01

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:06 pm