ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปภ.เตือน 7 จังหวัดภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลากช่วง 2-3 พ.ย.


 


ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัย 7 จังหวัดภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ พร้อมแจ้งเตือน 7 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 2 – 3 พ.ย.59

 
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี พิจิตร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากมีปริมาณฝนลดลง ขณะที่ภาคใต้สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับ หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและ สิ่งสาธารณะประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว รวมถึงแจ้งเตือน 7 จังหวัดภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือดินถล่ม ดินไหล และน้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 2 – 3 พ.ย.59
          
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน 7 จังหวัด รวม 21 อำเภอ 128 ตำบล 618 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคกลาง 4 จังหวัด 13 อำเภอ 100 ตำบล 494 หมู่บ้าน ได้แก่ นครสวรรค์ เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าตะโก อำเภอ หนองบัว อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอชุมแสง และอำเภอลาดยาว รวม 14 ตำบล 39 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,252 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 190 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 269,474 ไร่ อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเอ่อล้นเข้าท่วมอำเภอ วิเศษชัยชาญ รวม 2 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 513 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 3,784 ไร่
 
พระนครศรีอยุธยา น้ำจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอบางไทร อำเภอมหาราช และอำเภอนครหลวง รวม 80 ตำบล 436 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 17,946 ครัวเรือน กาญจนบุรี ฝนตกหนัก ทำให้น้ำในลำภาชีล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอด่านมะขามเตี้ย รวม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองไผ่ (หมู่ที่1,3,4,6) ตำบลกลอนโด ตำบลจรเข้เผือก และตำบลด่านมะขามเตี้ย ภาคเหนือ 1 จังหวัด 3 อำเภอ 12 ตำบล 48 หมู่บ้าน ได้แก่ พิจิตร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และอำเภอโพทะเล รวม 12 ตำบล 48 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,916 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 63,660 ไร่ ภาคใต้ 2 จังหวัด 5 อำเภอ 17 ตำบล 82 หมู่บ้าน ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอทับสะแก และอำเภอหัวหิน รวม 10 ตำบล 44 หมู่บ้าน เพชรบุรี น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม รวม 7 ตำบล 38 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 2,760 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากมีปริมาณฝนลดลง
 
ขณะที่ภาคใต้สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลำน้ำสายสำคัญมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุน จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณะประโยชน์ให้กลับมา ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศ พื้นที่ภาคใต้ยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 7 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา และภูเก็ต ให้เฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือดินถล่ม ดินไหล และน้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 2 – 3 พฤศจิกายน 2559 โดยจัดเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญเหตุ ชุดเคลื่อนที่เร็ว และวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 พ.ย. 2559 เวลา : 15:09:13

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 7:09 am