ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กฟผ. ร่วมประชุม COP22 พร้อมก้าวทันโลกสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 2050


 


กฟผ. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ในปี 2030 ซึ่งในส่วนของ กฟผ. มีเป้าหมายลดที่ 6 ล้านตัน และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในปี 2050 ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึงร้อยละ95 ในการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน


วิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า ให้สัมภาษณ์( เมื่อ 15 พ.ย.) เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. ในงานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 22 (COP22) ณ เมืองมาร์ราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก ว่า ในส่วนของ กฟผ. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงพลังงาน ในภาคการผลิตไฟฟ้า ได้มีการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามความตกลงปารีส ในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่ได้จากการประชุมCOP21 เมื่อปีที่แล้ว โดยประเทศไทยได้มีการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยใช้แผน PDP ฉบับ 2015 (ปี2558-2579) ซึ่งจะมีการปรับสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าลงในช่วงปลายแผน มีการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนมากขึ้น และสนับสนุนในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะมีผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย
 


โดยในช่วงแรก กฟผ. ได้ดำเนินการตาม NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Actions) หรือแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานการดำเนินการโดยสมัครใจ ประเทศไทยได้ส่งแผนไปว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 7-20 จาก BAU ในปี 2020ในภาคพลังงานและภาคขนส่ง ซึ่งจากการประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. รับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 4 ล้านตันในปี 2020 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย NAMA โดยปัจจุบัน กฟผ. สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วกว่า 3 ล้านตัน จากมาตรการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า หลังจากนั้นประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตาม INDC (Intended Nationally Determined Contribution) หรือเป้าหมายการดำเนินงานของประเทศในระดับมุ่งมั่น โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ในปี 2030 ซึ่งในส่วนของ กฟผ. มีเป้าหมายลดที่ 6 ล้านตัน

นอกจากนี้ ในประเด็นที่ทั่วโลกได้กล่าวถึงการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในปี 2050 ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึงร้อยละ95 รวพฟ. ได้กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย รวมถึง กฟผ. ได้ดำเนินการตามศักยภาพและบริบทของสังคมอย่างเต็มที่ โดย กฟผ. ได้ติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีพลังงานทดแทนยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาเพื่อเพิ่มค่าความพึ่งพาได้ให้สูงขึ้น จึงยังต้องมีการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอตลอด24ชั่วโมง ทั้งนี้ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีพลังงานทดแทนก้าวหน้าจนสามารถพึ่งพาได้มากขึ้น มีราคาที่เหมาะสม ประเทศไทยก็จะสามารถเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนและลดสัดส่วนการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าโดยเชื้อเพลิงฟอสซิลของ กฟผ. ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าลง

 

บันทึกโดย : วันที่ : 17 พ.ย. 2559 เวลา : 19:46:10

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:34 am