ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นหลังสหรัฐฯ ส่งขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศของซีเรีย


  + ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน หลังสหรัฐฯ ส่งขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศของซีเรีย ถึงแม้ว่าซีเรียจะไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ แต่ถ้าเกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อาจจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำมันดิบส่งออกน้อยลง เนื่องจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งของซีเรียอยู่ใกล้กับประเทศที่มีการผลิตน้ำมัน ดิบส่งออกรายใหญ่ และทางรัสเซียได้ออกมาส่งสัญญาณว่าการโจมตีของสหรัฐฯ ครั้งนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศต่อเนื่องอย่างน่าวิตกกังวล ระหว่างทางสหรัฐฯ และรัสเซีย
  +/- นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเวเนซูเอล่าจะมีการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบต่ำกว่า ระดับที่รายงานไว้เช่นเดียวกับอิรัก โดยเวเนซูเอล่าจะทำการส่งออกน้ำมันดิบอยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีวี่แววของการส่งออกน้ำมันดิบออกมา ขณะที่คาซัคสถานสมาชิกนอกกลุ่มโอเปกได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบขึ้น ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกันข้ามกับที่เคยรายงานไว้ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตลง 20,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งปีแรก
  - อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันหลังจาก Baker Hughes รายงานตัวเลขจำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มมากขึ้นเป็นเวลา 12 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยมีแท่นขุดเจาะเพิ่มขึ้น 10 แท่นในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 7 เม.ย. มาสู่ระดับ 672 แท่น ซึ่งมีปริมาณสูงสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 58 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการน้ำมันเบนซินจากอินโดนีเซียยังคงเงียบเหงา ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามยังมีความต้องน้ำมันเบนซินจากเวียดนาม ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบียและมาเลเซียอยู่บ้าง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันดีเซลยังคงเพียงพอต่อความต้องการ ถึงแม้ว่าขณะนี้เป็นช่วงที่โรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงอยู่ก็ตาม

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
   ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
   ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง
  ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตในกลุ่ม โอเปกมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง หลังผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์เผยว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกทั้ง 13 ประเทศปรับลดลงราว 230,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือนก.พ. มาอยู่ที่ระดับ 32.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการปรับลดลงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งปรับลดตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตและการปิดซ่อมบำรุงของแหล่งผลิตน้ำมัน ดิบ เหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบีย และการปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากข่าวการขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตในช่วงครึ่งหลัง ของปี 2560 โดยล่าสุดผู้ผลิตหลายรายทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกสนับสนุนข้อตกลงนี้
   สถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศลิเบียมีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังมีการประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ณ ท่าขนส่งน้ำมันดิบ Zawiya ซึ่งเป็นท่าขนส่งของแหล่งน้ำมันดิบ Sharara และ Wafa ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังเป้าหมายที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตของลิเบียไปสู่ระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในเดือนเม.ย.
  ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลง เนื่องจากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 90.8 หลังโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง และเพิ่มอัตราการกลั่นเพื่อรองรับอุปสงค์น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงฤดู ขับขี่ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองปริมาณการผลิตน้ำมันสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับลดตามที่คาดไว้

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 เม.ย. 2560 เวลา : 11:38:35

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:30 pm