ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์ วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลง จากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น


 +/- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับลดลง ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเป็นไปได้ที่จะมีการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกยังคงช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบ
  - นักลงทุนยังคงกังวลกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังสํานักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ล่าสุดปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ระดับ 9.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  + สถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในฝรั่งเศสช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ หลังสื่อเกาหลีเหนือเตือนสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับการโจมตีครั้งยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ ฝรั่งเศสจะจัดการเลือกตั้งรอบแรกในวันที่ 23 เม.ย. นี้ และการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่คาดการณ์ได้ยากที่สุดครั้งนึงเลยทีเดียว
  + ซาอุดิอาระเบียและคูเวตส่งสัญญาณสนับสนุนการขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกต่อไปในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมิ.ย. 2560 เนื่องจากต้องการให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกปรับตัวลดลง ซึ่ง ณ ปัจจุบันปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังสูงกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปีถึงร้อยละ 10

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ที่ราว 13.7 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอุปสงค์ในภูมิภาคที่อยู่ในระดับสูง
  ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น ประกอบกับความต้องการใช้ในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะจากฟิลิปปินส์และมาเลเซีย

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
   ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
   ราคาน้้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง
  จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบในและนอกโอเปกก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 พ.ค.ว่าจะมีจะมีการขยายระยะเวลาของมาตรการปรับลดกำลังการผลิตหรือไม่ ภายหลังปริมาณน้ำมันคงคลังเชิงพาณิชย์ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีค่อนข้างมาก แม้ว่ากลุ่มโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ได้ตกลงไว้ก็ตาม โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบีย คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความเห็นไปพ้องกันว่าควรขยายระยะเวลาของมาตรการแต่ข้อตกลงดังกล่าวขึ้นกับเงื่อนไขว่าผู้ผลิตนอกกลุ่มจะต้องปรับลดกำลังการผลิตลงด้วยเช่นกัน ซึ่งทางด้านของรัสเซียยังไม่ได้มีการออกมาให้ความเห็นแต่อย่างใด
  ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลงหลังโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ราวร้อยละ 93 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยลดผลกระทบของการผลิตน้ำมันดิบในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 9.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 เม.ย. ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน โดยปรับลดลงราว 1.0 ล้านบาร์เรล
  การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 11 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 683 แท่น นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 13 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยกว่า 2 ใน 3 ของการปรับเพิ่มขึ้นมาจากแหล่งผลิต Permian ที่มีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ

 

 
    


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 เม.ย. 2560 เวลา : 10:55:59

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 3:39 pm