ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 26-30 มิ.ย. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 19-23 มิ.ย. 60


แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 มิ.ย. – 30 มิ.ย. 60)
   

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากตลาดยังคงกังวลกับภาวะอุปทานล้นตลาด หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ  ลิเบีย และไนจีเรีย ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และชดเชยอุปทานที่ปรับลดลงจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้ง ในและนอกกลุ่มโอเปก ส่งผลให้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปกอาจไม่เป็นผลอย่างที่ คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ราคน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลง จากกำลังการกลั่นของโรงกลั่นที่อยู่ในระดับสูง และปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดว่าจะปรับลดลง นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากข่าวการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่ม โอเปก

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

    

ตลาดยังคงกังวลกับการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย และลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต โดยล่าสุด หลังจากที่ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Trans Forcados Pipeline กลับมาดำเนินการอีกครั้ง  ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของไนจีเรียคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเกิน 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 เดือน และปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนก.ค. ราว 180,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 885,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนก.ค.
   

กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากอดีต ประกอบราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบ 23 สัปดาห์ ติดต่อกัน โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด 23 มิ.ย. 2560 ปรับเพิ่มขึ้นราว 11 แท่น มาอยู่ที่ 758 แท่น
   

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลง จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ ความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูร้อนที่ปรับเพิ่มขึ้นในตะวันออกกลางโดยเฉพาะ ซาอุดิอาระเบีย ที่จะทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียมาสู่สหรัฐฯ ปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 509.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงราว 2.1 ล้านบาร์เรล
    

ติดตามความร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในเดือนพ.ค. ยังให้ความร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลง โดยปริมาณการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกแตะระดับ สูงสุดในเดือนพ.ค. 60 ที่ร้อยละ 106  ซึ่งกลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตลงราวร้อยละ 108 ในขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกสามารถลดกำลังการผลิตลงราวร้อยละ 100 
    

จับตาท่าทีของผู้ผลิตน้ำมันดิบในด้านมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หลังอิหร่านให้ความเห็นว่ากลุ่มโอเปกอาจพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตมากกว่า 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการให้สัมภาษณ์จากผู้ผลิตรายอื่นๆ 
   

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/60 สหรัฐฯ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน และรายจ่ายในการบริโภคของบุคคลสหรัฐฯ

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 มิ.ย. – 23 มิ.ย. 60)
   

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดกังวลภาวะอุปทานล้นตลาดยังคงไม่คลี่คลายในเร็วนี้ แม้ว่าผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการ ผลิตออกไปอีก 9 เดือนมาสิ้นสุด มี.ค. 2561 เนื่องจากลิเบียและไนจีเรียยังคงเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นกว่า 155,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ไนจีเรียคาดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค.จะกลับมาสู่ระดับมากกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 มิ.ย. ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังโรงกลั่นยังคงกำลังการผลิตในระดับสูงต่อเนื่องและปริมาณการนำเข้าน้ำมัน ดิบปรับลดลง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มิ.ย. 2560 เวลา : 17:31:20

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:17 am