ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อธิบดี ปภ. เตือน 30 จังหวัดเตรียมรับมือน้ำท่วมระลอกใหม่ 4 ถึง 6 สิงหาคมนี้


นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พบว่า ในช่วงวันที่ 4–6 ส.ค.นี้ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยได้

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 30 จังหวัด แยกเป็น

-ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

-ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

-ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภ

อธิบดี ปภ. กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ที่ลาดชันเชิงเขา และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัย ให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนักสะสมในพื้นที่และช่วงเวลาที่มีน้ำทะเลหนุนสูง กรณีมีฝนตกหนักถึงหนักมากปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวัน ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

"ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 30 จังหวัดดังกล่าว ติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังอันตรายจากปริมาณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในระยะนี้" นายฉัตรชัย กล่าว


บันทึกโดย : วันที่ : 03 ส.ค. 2560 เวลา : 13:40:04

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 6:54 am