ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปตท.รายงานราคาน้ำมันสัปดาห์ที่แล้ว และแนวโน้มสัปดาห์นี้ (28 ส.ค.-1 ก.ย.)


 ปตท.รายงานราคาน้ำมันสัปดาห์ที่แล้ว และแนวโน้มสัปดาห์นี้ (28 ส.ค.-1 ก.ย.)


ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.28  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
 
Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 18 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน  3.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 463.2 ล้านบาร์เรล ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่ ม.ค. 59
Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน  (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 25 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4 แท่น อยู่ที่ 759 แท่น ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2
คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ของกลุ่ม OPEC และ Non OPEC เพื่อติดตามการดำเนินการตามข้อกำหนดในการลดปริมาณการผลิต ประชุมที่กรุงเวียนนา  ประเทศออสเตรีย ในจันทร์ที่ 21 ส.ค. 60 รายงานผลการปฏิบัติตามข้อตกลง (Compliance Rate) ในเดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ 94 % เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4 %
อีกทั้งผู้แทนซาอุดิอาระเบีย และ รัสเซียเห็นพ้องกันว่าหากมีการขยายระยะเวลาการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 ออกไปอีก 3 เดือน เป็นเดือน มิ.ย. 61 จะเสริมความเชื่อมั่นของในตลาดโลกว่าผู้ผลิตยังกำกับดูแลอุปทานน้ำมัน
Reuters รายงานไนจีเรียมีแผนส่งออกน้ำมันในเดือน ก.ย. 60 ลดลง 14,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ในเดือน ต.ค. 60 จะส่งออกลดลง 16,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน
บริษัทที่ปรึกษา JBC Energy รายงานบริษัท CNOOC ของจีนมีแผนเริ่มเดินเครื่องโรงกลั่น Huizhou (กำลังการกลั่น 100,000 บาร์เรลต่อวัน)  Phase ที่ 2 ปลายเดือน ส.ค. 60 ซึ่งจะทำให้กำลังการกลั่นรวมเพิ่มสู่ระดับ 200,000 บาร์เรลต่อวัน
ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ตึงเครียด หลังจาก นาย Ali Akbar Salehi ผู้บริหาร The Atomic Energy Organization of Iran ของอิหร่าน แถลงพร้อมกลับมาเดินเครื่องโรงงานใต้ดินในเมือง Fordow เพื่อสกัดแร่ยูเรเนียมเข้มข้น 20 % ภายใน 5 วัน หากสหรัฐฯ  ล้มเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA) ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวรวมถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรห้ามส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
 
Statistics and Information ของประเทศโอมานรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบ เดือน ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 16,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 821,000 บาร์เรลต่อวัน
กระทรวงน้ำมันอินเดียรายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นทั้งของรัฐและเอกชน รวม 23 แห่ง ในประเทศเดือน ก.ค. 60 ลดลงจากปีก่อน 5.6% มาอยู่ที่ระดับ 103.3 % หรือ 4.9  ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลงจากปีก่อน  0.5% อยู่ที่ระดับ  733,000 บาร์เรลต่อวัน  ทั้งนี้อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบ 86% ของปริมาณที่ใช้ทั้งประเทศ
Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 22 ส.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 23,119 สัญญา อยู่ที่ 271,274 สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
 
ราคาน้ำมันเบนซิน NYMEX RBOB เช้าวันนี้ปรับเพิ่มขึ้น 7% สู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี หลังสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพายุเฮอริเคน Harvey (ความเร็วลม 130 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เคลื่อนตัวจาก Gulf of Mexico ขึ้นชายฝั่งเมือง Corpus Christi รัฐ Texas ของสหรัฐฯ ทำให้โรงกลั่นน้ำมันในบริเวณนั้นกำลังการกลั่นรวมกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (คิดเป็นประมาณ 11% ของทั้งประเทศ) ต้องหยุดดำเนินการ และทำให้เกิดอุทกภัยที่รัฐ Texas และรัฐ Louisiana (ระดับน้ำฝน 20-30 นิ้ว และพยากรณ์ว่ามีโอกาสขึ้นไปถึง 50 นิ้วในบางพื้นที่) ซึ่งขณะนี้ ทั้งสองรัฐได้ประกาศเขตภัยพิบัติ (State of Disaster) ขณะที่พลเมืองต่างอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัย ทั้งนี้ Harvey นับเป็นพายุเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ในรอบกว่าทศวรรษ ขณะเดียวกัน รัฐบาลย้ำว่ามีปริมาณน้ำมันดิบในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves-SPR) เพียงพอสำหรับดึงออกมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน อนึ่ง รัฐ Texas มีกำลังการกลั่นรวม 5.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน  และรัฐ Louisiana ที่ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน  อย่างไรก็ตาม พายุเริ่มลดระดับความรุนแรงด้วยความเร็วลมประมาณ 105 ไมล์ต่อชั่วโมงหรือ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยเช้านี้เข้าสู่ เมือง Houston ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับ 4 ของประเทศ แต่ประชากรยังคงต้องอพยพเนื่องจากเกิดอุทกภัยรุนแรง ส่วนท่อขนส่งน้ำมัน Colonial ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งน้ำมันเบนซินที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากพายุ ทว่าท่าส่งออกน้ำมันแนวชายฝั่งหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการ เมื่อประกอบกับอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ที่ขาดหายจะทำให้การส่งออกไปยังอเมริกาใต้และเอเชียลดลง มีส่วนผลักดันให้ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้น ขณะนี้ มีรายงานว่าผู้ค้าในสหรัฐฯ เริ่มแสดงความจำนงนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากเอเชียเหนือแล้ว สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50.3-54.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 46.5-49.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์รล  ราคาน้ำมันดิบ Dubai  จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ  48.8-52.5  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล                                                                               

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
 
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานตลาด Gasoline บริเวณเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรปคึกคัก เนื่องจากความต้องการนำเข้าในขณะนี้สูงทั้งในแอลจีเรีย อเมริกาเหนือและตะวันออกกลาง และอุปสงค์ในเอเชีย อาทิ บริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 88 RON จำนวน 6 เที่ยวเรือ ปริมาณรวม 760,000 บาร์เรล ส่งมอบเดือน  ก.ย. 60 และ Energy Aspects รายงานโรงกลั่นจีนปรับ Yield ให้ผลิตน้ำมันเบนซินลดลง เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลซึ่งมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 12,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 229.9 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงค์โปรสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 156,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.46 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 42,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 10.76 ล้านบาร์เรล และมีข่าว บริษัท Royal Dutch Shell ประกาศโรงกลั่นน้ำมัน Pernis (404,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เริ่มกลับมาเดินเครื่องและคาดว่าจะผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเต็มที่ภายในเดือน ส.ค. นี้  อนึ่งโรงกลั่นดังกล่าวเกิดไฟไหม้ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 60 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.5–69.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
 
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก Petroleum Planning & Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซล ในเดือน ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.35 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 2.36 ล้านบาร์เรล และ บริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.25% S ปริมาณ 100,000 บาร์เรลต่อเดือน ส่งมอบเดือน ต.ค. – ธ.ค. 60 ประกอบกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics) ของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล เดือน ก.ค. 60 ลดลงจากปีก่อน 0.3 % อยู่ที่ 1.10 ล้านบาร์เรล  อย่างไรก็ตาม บริษัท Korea National Oil Corp. ของเกาหลีใต้รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.7 % อยู่ที่ระดับ 550,000 บาร์เรลต่อวัน และ Platts รายงานฤดูมรสุมบริเวณเอเชียใต้ อาทิ ประเทศเนปาล บังกลาเทศ และอินเดีย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60 ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 200 คน และการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับภาคเกษตรกรรมและการผลิตไฟฟ้าลดลง (คาดว่าฤดูมรสุมจะสิ้นสุดเดือน ก.ย. 60)  และด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลของญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 128,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 10.03 ล้านบาร์เรล  และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงค์โปรสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 130,000 บาร์เรล อยู่ที่ 13.77 ล้านบาร์เรล  สูงสุดในรอบ 3 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62.0-64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บันทึกโดย : วันที่ : 28 ส.ค. 2560 เวลา : 17:25:58

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 9:03 am