ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
โขนพระราชทาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ถวายอาลัยครั้งสุดท้าย


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ให้นำโขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้มาแสดงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวทีมหรสพ ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นการแสดงโขนหน้าเวทีกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 . เป็นต้นไป นับได้ว่าเป็นเกียรติที่โขนพระราชทานฯ จะได้สนองพระมหากรุณาธิคุณและถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นครั้งสุดท้าย

 

 

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวถึงการแสดงโขนพระราชทานในครั้งนี้ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้โขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มาแสดงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวทีมหรสพในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งทุกคนทั้งคณะกรรมการ ครู ผู้เชี่ยวชาญ นักร้อง นักดนตรี นักแสดง ผู้ทำงานประกอบฉาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานปักผ้า งานทำหัวโขน งานเครื่องประดับโขน งานวาดต่างๆ  ร่วมกับนักเรียนจากศูนย์ศิลปาชีพในพระองค์  ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงดูแลชุบเลี้ยง ฝึกฝนตั้งแต่ยังไม่รู้จักศิลปะชั้นสูง ซึ่งทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดหัวใจ เพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่โดยผู้แสดงโขนทั้งหมดซ้อมร่วมกัน ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ศาลายา .นครปฐม ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่เคยแสดงโขนพระราชทานมาแล้ว รวมถึงครูอาจารย์ด้านนาฏศิลป์ ที่ต้องการมีส่วนร่วมแสดงถวายพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย

โขนพระราชทาน ได้คัดเลือกตอนการแสดงจำนวน 3 ตอนใหญ่ ใช้เวลาในการแสดง 2 ชั่วโมง อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้ออกแบบและจัดทำบท เผยว่า โขนพระราชทานเริ่มที่ ตอนรามาวตาร อันเป็นต้นเรื่องของการแสดง กล่าวถึงพระมหาฤๅษีทั้งห้าขึ้นไปกราบทูล พระอิศวร และเชิญพระนารายณ์ให้อวตารลงมาเป็นพระราม เพื่อปราบอสูร เหล่าเทพบุตรต่างๆ ได้ร่วมอาสาลงมาเป็นพลวานร ทั้งพระลักษณ์และเทพอาวุธ ตลอดบัลลังก์นาคก็อาสาลงมาจุติ เพื่อเป็นกำลังของพระนารายณ์ ซึ่งเปรียบให้เห็นถึงพลังแห่งความดีความถูกต้อง ที่จะช่วยป้องกันความชั่วร้ายหรือฝ่ายอธรรมให้มีอำนาจได้ ตอนสีดาหาย และพระรามได้พล กล่าวถึง พระรามรับสัตย์จากพระบิดาออกเดินทางมาอยู่ป่าเป็นเวลา 14 ปี พระลักษณ์ อนุชาและนางสีดา มเหสีติดตามมาด้วย ทศกัณฐ์ใช้อุบายลักนางสีดาพาขึ้นพระราชรถเหาะมาพบนกสดายุเข้าขัดขวาง แต่นกสดายุพ่ายแพ้ เมื่อพระราม พระลักษณ์ ติดตามมาพบนกสดายุบาดเจ็บอยู่ จึงทราบเหตุการณ์ทั้งหมด พระรามเศร้าโศก เข้าพักใต้ต้นหว้าใหญ่ หนุมานซึ่งถูกพระอุมาสาปมาพบเข้า จึงอาสาไปนำสุครีพ อุปราชเมืองขีดขินเข้ามาเฝ้าถวายไพร่พลเป็นกองทัพใหญ่ติดตามไปทำสงครามกับทศกัณฐ์ และ ตอนขับพิเภก ทศกัณฐ์เมื่อลักพานางสีดามาไว้ที่อุทยานท้ายกรุงลงกาแล้ว วันหนึ่งทศกัณฐ์เกิดนิมิตฝันเป็นลางร้าย จึงให้พิเภกทำนาย พิเภกทูลให้ส่งคืนนางสีดาแก่พระราม ทศกัณฐ์โกรธจึงขับไล่ออกจากเมือง พิเภกไปสวามิภักดิ์กับพระราม และถวายสัตย์สุจริต เหล่าเทพบุตรนางฟ้าจึงร่วมกันแสดงความยินดีในสัตย์สุจริตของพิเภก

รูปแบบการแสดงครั้งนี้เป็นรูปแบบการแสดงโขนกึ่งฉาก อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและจัดทำฉากโขน เผยว่า มีฉากประกอบบางฉากตามท้องเรื่องและนำเทคนิคการใช้มัลติวิชั่นเข้าประกอบ เหตุที่ใช้รูปแบบการแสดงเช่นนี้ เพราะโขนพระราชทานได้รับความนิยมอย่างมากจากการแสดงโขนฉาก แต่เนื่องจากว่าการแสดงครั้งนี้เป็นการแสดงบนเวทีกลางแจ้ง จึงไม่สามารถจัดฉากประกอบได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยสารัตถะที่จะได้จากการแสดงครั้งนี้ นอกจากความสนุกสนาน ความงดงามตระการตาตามรูปแบบโขนพระราชทานแล้ว ได้มีการปรับเปลี่ยนสอดแทรกเทคนิค ชั้นเชิงทางศิลปะ การขับร้อง แสดงดนตรี ขบวนท่ารำ อีกทั้ง แทรกระบำประกอบการแสดง ที่สำคัญที่สุดคือ คุณธรรมแห่งความจงรักภักดีของตัวละคร และสะท้อนให้เห็นความจงรักภักดีของผู้ปฏิบัติงานในการจัดการแสดงโขนพระราชทานครั้งนี้ต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ฉากที่นำมาใช้ในครั้งนี้เป็นฉากเดิมที่เคยทำไว้อย่างดีที่สุด และมีการเก็บรักษาไว้ตั้งแต่เริ่มจัดแสดงโขนพระราชทานครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยจะนำมาถ่ายรูปและฉายขึ้นวีดิทัศน์ ประกอบกับอุปกรณ์ประกอบฉาก เช่น ราชรถ และวิมาน เป็นต้น ซึ่งมีความงามไม่แพ้กับฉากจริง

ขณะที่การจัดทำเครื่องแต่งกายโขนพัสตราภรณ์ จะมีการดำเนินการใหม่ให้วิจิตรงดงามตามโบราณราชประเพณี อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้จัดทำเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เผยว่า ชุดสำคัญจะสร้างใหม่ทั้งหมด ได้แก่ ชุดของทศกัณฐ์ 5 ชุด และที่พิเศษมีการสร้างชุดมหาเทพ พระอิศวร พระนารายณ์ 2 ชุด ซึ่งไม่เคยสร้างขึ้นมาก่อน รวมถึงผ้าห่มนาง 24 ผืน 12 ชุด กษัตริย์ 2 ชุด นางกำนัล 10 ชุด เช่นเดียว กับชุดเสนายักษ์ เสนาลิงที่ชำรุดเพราะผ่านการแสดงมานานก็สร้างใหม่เช่นกัน ในการทำงานจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือการทอผ้ายกทองเป็นผ้านุ่งที่วิจิตรงดงาม ใช้ช่างฝีมือของศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค

นอกจากนี้ ยังได้กลุ่มศิลปาชีพสีบัวทอง .อ่างทอง ร่วมทอผ้ายกทอง ส่วนงานปักเครื่องโขน ตั้งแต่แขนเสื้อ อินธนู กรองคอ สนับเพลา รัดเอว ได้ช่างฝีมือของศิลปาชีพ จำนวน 76 คน จากทั่วประเทศเข้ามาดำเนินการ ได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตรลดา ศูนย์ศิลปาชีพหนองลาด .สิงห์บุรี กลุ่มดอนคำเสนา .สกลนคร กลุ่มกุดนาขาม .สกลนคร กลุ่มสานแว้แว้ .สกลนคร กลุ่มอุทุมพรพิสัย .ศรีสะเกษ กลุ่มกาญจนบุรี .กาญจนบุรี และกลุ่มเพชรบุรี ศูนย์ศิลปาชีพสวนผึ้ง

เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่จัดสร้างขึ้นใหม่ ได้สืบทอดจากเครื่องภูษาพัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์ อันเป็นเครื่องประดับลงยาที่เคยมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้วัสดุอย่างดี มีค่า ขณะนี้เครื่องแต่งกายโขนทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ววิจิตรงดงามเป็นงานที่ประณีตยิ่งขึ้น เพราะสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพมีทักษะและความชำนาญมากขึ้น

ทั้งนี้ การแสดงโขนพระราชทานในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดทำฉาก โดยนักเรียนจากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด .พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้เป็นชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง อยู่ในพื้นที่ .อมก๋อย .เชียงใหม่ และบ้านห้วยต้า .ท่าปลา .อุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้ในพระราชินูปถัมภ์ เข้ามาศึกษาเรียนรู้งานด้านประติมากรรม ตลอดจนการทำหัวโขน และฉากโขนพระราชทาน ซึ่งทุกคนพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเป็นครั้งสุดท้าย


LastUpdate 24/10/2560 19:24:11 โดย : Admin

23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 8:11 pm