ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ ปรับเพิ่มหลังโอเปกมีแนวโน้มต่อระยะเวลา (31/10/60)


 ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มหลังโอเปกมีแนวโน้มต่อระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ

+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 2558 หลังนาย Mahammad Barkindo เลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) กล่าวว่าประเทศซาอุดิอาระเบียและรัสเซียเป็นแกนหลักในการสนับสนุนการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปอีก 9 เดือน จากกำหนดเดิมที่เดือนมี.ค. 2561 โดยเจ้าชาย Mohammad bin Salman มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบียได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันความพร้อมของซาอุดิอาระเบียในการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อให้ตลาดน้ำมันกลับมาสู่จุดสมดุล

+ JP Morgan ปรับเพิ่มราคาน้ำมันดิบคาดการณ์ของปี 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่อุปทานมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงกว่าคาด โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ 58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสที่ 54.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

- ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากการที่ประเทศอิรักขยายกำลังการส่งออกน้ำมันดิบด้วยการเพิ่มสถานีขนถ่ายน้ำมันลอยน้ำ ซึ่งทำให้อิรักสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นราว 900,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 4.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอิรักได้เพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบมาอยู่ที่ระดับ 3.45 ล้านบาร์เรล เพื่อชดเชยจากการที่แหล่งน้ำมันดิบ Kirkuk ปิดดำเนินการชั่วคราวในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่อาจเพิ่มขึ้นหลังตลาดคาดการณ์การปรับเพิ่มโควตาส่งออกน้ำมันของประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศอินโดนีเซีย

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยมีปัจจัยกดดันจากตลาดคาดการณ์การเพิ่มโควตาส่งออกน้ำมันของประเทศจีน อย่างไรก็ดี ตลาดน้ำมันดีเซลยังมีแรงหนุนจากอุปสงค์ในจีนที่อยู่ในระดับสูงและปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังของจีนที่ปรับตัวลดลง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง
กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 ต่อไปอีกราว 3 - 9 เดือน โดยซาอุดิอาระเบียเปิดเผยว่าเป้าหมายหลักของกลุ่มคือการปรับลดปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD oil stocks) ให้กลับมาสู่ระดับปกติที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี นอกจากนี้ ซาอุฯ ยังคงหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อรักษาสมดุลตลาดน้ำมัน หลังข้อตกลงสิ้นสุดลง


ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ที่คาดจะกลับมาดำเนินการผลิต หลังมีการหยุดซ่อมบำรุงฉุกเฉินจากพายุเฮอร์ริเคน Nate รวมถึงการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ต.ค.60 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ที่ 1.7 ล้านบาร์เรล

จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หลังจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดปริมาณการขุดเจาะลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากที่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค. ปรับลดลงกว่า 13 แท่นจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 737 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60 


บันทึกโดย : วันที่ : 31 ต.ค. 2560 เวลา : 10:49:20

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 12:42 pm