ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.ไอร่า : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน ผันผวน ภายใต้ Sentiment(01/06/61)


 ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดวันนี้

  (-) ตลาดต่างประเทศ DJIA -251.94, NASDAQ -20.34, S&P -18.74, FTSE -11.37, CAC -28.95 และ DAX -178.87
ภายใต้ความกังวลสงครามการค้าครั้งใหม่ หลังรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และภาษีนำเข้าอลูมิเนียม 10% จากแคนาดา เม็กซิโก และ EU โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (1/6/61) เวลา 11.00 น. ตามเวลาไทย หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และ EU ประสบความล้มเหลว
  พร้อมกับมาตรการตอบโต้ทันที จากรัฐบาลแคนาดา โดยประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ที่นำเข้าจากสหรัฐ ฯ ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโก ประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกัน โดย EU ประกาศรายชื่อสินค้าสหรัฐฯ หลายร้อยรายการที่จะถูกเรียกเก็บภาษี ตั้งแต่เนยถั่วไปจนถึงมอเตอร์ไซค์ ส่วนเม็กซิโกประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ รวมถึงเนื้อสุกร แอปเปิล องุ่น ชีส และเหล็กแผ่น เป็นต้น
  นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันปรับลดลง ขณะที่สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจ (1) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน – เม.ย. เพิ่มขึ้น 1.8%yoy ซึ่งดัชนีดังกล่าว ใช้วัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟด ให้ความสำคัญ ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% (2) ผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงาน ล่าสุด ลดลง 13,000 ราย อยู่ที่ 221,000 ราย ต่ำกว่าที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 228,000 ราย และ (3) ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) – เม.ย. ลดลง 1.3%MoM และลดลง 2.1%YoY ซึ่งปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4
  ราคาน้ำมันดิบ (NYMEX) ส่งมอบเดือน ก.ค. -US$1.17 อยู่ที่ US$67.04 ต่อบาร์เรล หลัง EIA เปิดเผย สต็อกน้ำมันเบนซิน ล่าสุดเพิ่มขึ้น 534,000 บาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะลดลง 1 ล้านบาร์เรล ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.1%MoM สู่ระดับ 10.474 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ตามสต็อกน้ำมันดิบ ล่าสุด ลดลง 4.2 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่คาดว่าจะลดลงเพียง 0.525 บาร์เรล
  พร้อมจับตาแผนการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก หลังมีการเปิดเผยว่า ซาอุดิอาระเบีย กลุ่มโอเปก และประเทศนอกกลุ่มโอเปก จะยังไม่เพิ่มกำลังการผลิตจนถึงสิ้นปีนี้ และจะทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมัน ในการประชุม วันที่ 22/6/61 จากก่อนหน้ากลุ่มโอเปกและประเทศนอกกลุ่ม นำโดยรัสเซีย มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงสิ้นปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน
  ราคาทองคำ (COMEX) ส่งมอบเดือน ส.ค. -US$1.8 อยู่ที่ US$1,304.07 ต่อออนซ์ ภายใต้คาดการณ์ว่าเฟด อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. (12 – 13/6/61)
  (-) เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศสุทธิ -7,864 ล้านบาท ยอดสะสม -131,426 ล้านบาท (ปี’57 และ 58 ยอดขายสุทธิสะสม 36,173 ล้านบาท และ 154,346 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ปี’59 ซื้อสุทธิสะสม 77,927 ล้านบาท และปี’60 ขายสุทธิสะสม 25,755 ล้านบาท)

ประเด็นที่ต้องติดตาม 1 - 6 มิ.ย. 61
1/6/61 สหรัฐฯ เปิดเผย
  (1) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.
  (2) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนพ.ค.
  (3) ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ค
  (4) ยอดขายรถยนต์เดือนพ.ค.
  

4/6/61 สหรัฐฯ เปิดเผย
  (1) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย.

5/6/61 สหรัฐฯ เปิดเผย
  (1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนพ.ค.
  (2) ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ค.

6/6/61 สหรัฐฯ เปิดเผย
  (1) ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนเม.ย.
  (2) ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วย – 1Q/61
  (3) สต็อกน้ำมัน

ทิศทางตลาด
  ผันผวน? ภายใต้ Sentiment ที่เป็นลบจากความกังวลต่อสงครามการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ  ทั้งจากข้อพิพาทกับจีน ซึ่งในวันที่ 15/6/61 สหรัฐฯ จะเปิดเผยรายชื่อสินค้าจีนที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% วงเงิน 50,000 ล้านUSD และวันที่ 30/6/61 ประกาศข้อจำกัดการลงทุน และควบคุมการส่งออกต่อผู้นำภาคธุรกิจและองค์กรของจีน ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถือครองเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในภาคอุตสาหกรรม คาดจีนจะมีการมาตรการตอบโต้ รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ คาดยังถูกกดดันจาก  ประเด็นก่อนหน้าที่สหรัฐฯ จะมีการประกาศเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตราที่สูงถึง 25%
  ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอลูมิเนียม อัตรา 25% และ 10% จากแคนาดา เม๊กซิโก และ EU โดยมีผลบังใช้ในวันนี้ พร้อมกับมาตรการตอบโต้ทันทีจากประเทศดังกล่าว ต่อสินค้าหลายรายการของสหรัฐฯ 
  นอกจากนี้ราคาน้ำมันกลับมีความผันผวน คาดส่งต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน +/- ตามทิศทางราคาน้ำมัน
รวมถึงการการประชุมเฟด 12 – 13/6/61 คาดเป็นประเด็นที่สร้างความผันผวนจนถึงวันประชุม คาดในครั้งนี้มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%
  ทางด้านประเด็นในประเทศ คาดยังถูกกดดันและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จาก Fund Flow ล่าสุดต่างชาติขายสุทธิ มูลค่าเกือบ 8,000 ล้านบาท และทำให้ YTD ยอดขายสุทธิสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สูงกว่า 130,000 ล้านบาท พร้อมจับตาเงินบาท หากมีแนวโน้มกลับมาอ่อนค่า คาดเป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงว่า Fund Flow ไหลออก 
  ส่วนประเด็นทางการเมือง คาดเป็นสัญญาณในทางบวกมากขึ้น หลังศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติทั้งร่าง พรบ.ที่มาของ สว. และการเลือกตั้ง สส. ว่าไม่ขัดกับ รธน. คาดช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นการลงทุน โดยเฉพาะหลังมีการกำหนดวันเลือกตั้งชัดเจน
ขณะที่ในระยะกลาง – ยาว ยังได้รับ Sentiment บวกจากโครงการ EEC ซึ่งปัจจุบันประกาศใช้เป็นกฎหมาย (พรบ.เขตพัฒนาพิเศษเศรษฐกิจ พ.ศ.2561) คาดส่งผลดีต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จากความเชื่อมั่นของ
  นักลงทุนเอกชน และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ภายใต้โครงการก่อสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน ล่าสุดกำหนดเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) มูลค่าเงินลงทุน ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ net cost  อายุโครงการ 50 ปี กำหนดยื่นซองประมูล 12/11/61 คาดลงนามสัญญาต้นปี’62

และยังแนะจับตา
  (1) กลุ่มปิโตรเคมี ได้รับประโยชน์จากผลการดำเนินงานที่ยังคงแข็งแกร่ง เช่น IVL และ PTTGC เป็นต้น
  (2) กลุ่มพลังงาน ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูง เช่น PTT, PTTEP, BANPU และ SPRC เป็นต้น
  (3) กลุ่มท่องเที่ยว ได้รับประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เช่น CENTEL, ERW เป็นต้น
  (4) กลุ่มขนส่ง ยังได้รับผลดีจากการท่องเที่ยว เช่น AOT และ PSL จากค่าระวางเรือ และ BTS จากรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย
  (5) กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง จากโครงการ EEC ที่มีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ คาดได้รับประโยชน์จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอกชน และโครงการก่อสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน
  ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี -0.02 อยู่ที่ 2.82% (ระดับสูงสุด 3.77% เมื่อ กพ.’54)
  ดัชนีความเสี่ยง (VIX) +0.49 อยู่ที่ 15.43
  หุ้นแนะนำ : UNIQ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 มิ.ย. 2561 เวลา : 10:01:35

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:33 pm