ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน ลุ้นรีบาวด์ต่อ แม้ปัจจัยต่างประเทศยังกดดัน(03/07/61)


 “ลุ้นรีบาวด์ต่อ แม้ปัจจัยต่างประเทศยังกดดัน”

• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : --
  ภาวะตลาดและปัจจัย : ตลาดวันนี้– SET Index ดีดตัวขึ้น 11.69 จุด ปิดที่ 1607.27 จุด ขึ้นสวนทางกับตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ปรับลง มูลค่าซื้อขายเบาบางที่ 48.3 พันล้านบาท ถือว่า SET ปิดใกล้ยอดสูงสุดของวันที่ 1607.41 จุด มีข่าวดีเรื่อง จีนเตรียมผ่อนคลายมาตรการข้อจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศ EU บรรลุข้อตกลงผู้อพยพ และธนาคารสหรัฐส่วนใหญ่ผ่าน Stess Test รอบ 2 และดอลลาร์อ่อนค่า ช่วยลดข่าวกระแสเงินไหลออก กลุ่มรับเหมาฟื้นตัว หลังยังมีหวังว่าเมกะโปรเจ็กต์บางงานยังประมูลทันปีนี้ อีกทั้งหลายหลักทรัพย์กลุ่มหลักเพิ่มขึ้น ส่วนหลักทรัพย์ปรับตัวลงมากคือ PTTEP และ PTTGC ด้านผู้ซื้อสุทธิคือ สถาบัน 3.6 พันลบ. ด้านผู้ขายสุทธิคือ ต่างประเทศ 1.8 พันลบ. รายย่อย 1.0 พันลบ.และบัญชีหลักทรัพย์ 0.8 พันลบ.
  แนวโน้มและกลยุทธ์– SET มีโอกาสที่จะรีบาวด์ต่อได้ ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านเช้านี้ส่วนใหญ่แกว่งแคบในลักษณะเป็นบวก อาจะเป็นเพราะราคาหุ้นที่ผ่านมาปรับลงไปมาก สำหรับ P/E ตลาดที่ DBS ประเมินปีนี้และปีหน้าเป็น 14.5 และ 13.2 เท่า ตามลำดับ ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเอเชีย แต่ก็ถือว่าเป็นระดับที่เริ่มไม่แพงเทียบกับอดีต และหากเทียบกับกลุ่ม US,EU & ญี่ปุ่น ที่ 16.4 และ 14.7 เท่า ตามลำดับ ไทยถูกกว่า ปันผลสูง แต่ราคาน้ำมันปรับลงเป็นอีกหนึ่งแรงฉุด ส่วนเรื่องสงครามการค้า ติดตามวันศุกร์ 6 ก.ค.61ที่จีน-สหรัฐจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้า จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไหมก่อนวันนี้ ส่วนเฟดคาดปีนี้จะปรับขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง (ปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี) และปีหน้าอีก 3 ครั้ง ทำให้แนวโน้มดอลลาร์แข็งค่า และเงินไหลออกกลับไปสหรัฐ นับว่าปัจจัยต่างประเทศเป็นลบนำปัจจัยในประเทศ ในเรื่องกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ส่วนปัจจัยบวกคือ การเลือกตั้งไทยยังเป็นไปตามโรดแม็ป เศรษฐกิจไทยยังดี ตัวเลข พ.ค.61 ขยายตัวดีต่อเนื่อง และเงินเฟ้อยังไม่น่าห่วง แม้น้ำมันปรับขึ้น แต่เริ่มกังวลไทยจะได้รับผลกระทบสงครามการค้า เพราะเราเป็นห่วงโซ่ผู้รับจ้างผลิตและส่งออก จึงอาจได้รับผลลบได้ ส่วนดาวโจนส์ล่วงหน้า +51 จุด น้ำมันล่วงหน้าปรับขึ้น กลยุทธ์ในสัปดาห์นี้ ยังคงเน้นลงทุนหุ้นรายตัว (Selective Buy) ที่มีพื้นฐานดีและมีประเด็นที่น่าสนใจในระยะนี้ หุ้นส่งออกได้ประโยชน์จากบาทอ่อน การที่ SET ปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้หุ้นพื้นฐานดี Blue Chip หลายตัวย่อลงมาให้ซื้อได้ เช่น AOT, ADVANC, BBL, CPALL, KBANK, PTTGC และ SCC เป็นต้น นักลงทุนระยะสั้นควรเล่นรอบสั้นๆ ไม่หวังกำไรมาก ระยะกลาง-ยาวควรตั้งเป้าผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม และทยอยขายทำกำไรเมื่อได้ตามเป้าหมาย ล็อคกำไร ลดความเสี่ยง ระยะนี้คาดว่า SET จะซื้อขายอยู่ในกรอบเป็น 1580-1640 จุด
  Update หุ้นเด่น: AMATA – กำไรหลัก 1Q61 เติบโตสูงถึง 65% y-o-y เป็น 413 ล้านบาท สืบเนื่องจากการโอนทิ่ดินนิคมฯเป็นจำนวนมาก กำไรจากบริษัทร่วมที่สูงขึ้น และมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ช่วยส่งเสริมอีกด้วย อย่างไรก็ตามยอดขาย (Presales) พื้นที่นิคมฯยังทำได้น้อย คือ ลดลงเทียบกับทั้ง y-o-y และ q-o-q แต่ยังจัดให้เป็นหลักทรัพย์ที่เราชอบใน Theme เกี่ยวกับนโยบายระเบียงเศรษฐกิจจากภาครัฐ (EEC) ซึ่งมีที่ดินต้นทุนต่ำสูงถึง 1.36 หมื่นไร่ คงคำแนะนำ ซื้อ ด้วยราคาพื้นฐานสูงเป็น 30.00 บาท ซึ่งประเมินด้วยส่วนลด 20% จาก NAV ของบริษัท
  การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ระยะสั้น Candlestick & Indicators เป็นบวกเล็กๆ แต่ความน่าจะเป็นของตลาดฯระยะกลางมีน้ำหนักเป็นการลง ตามโครงสร้าง อย่างไรก็ตามอาจมีรีบาวด์สั้นๆก่อนจึงปรับลง ซื้อเน้นค่าบวก แนวต้านระยะสั้นอยู่ที่ 1610-1620, 1640 โดยมีแนวรับ 1580-1570
  สำหรับการ Scan หุ้นที่มีโอกาสทำ New high ที่เข้ามาใหม่เป็น TCAP, ADVANC, HMPRO, GLOBAL ที่ยังคงอยู่ใน List ได้แก่ PTT, PTTGC, CPN หุ้นที่หลุด List คือ VGI, BDMS และที่ให้หาจังหวะTake profit SCC, AOT, CPALL, GOLD, KKP, KCE, ROBINS

Key Drivers TODAY
ปัจจัยต่างประเทศ
-/+ จับตา 6 ก.ค.61 วันเริ่มเก็บภาษีนำเข้า จีน-สหรัฐ
  # รัฐบาลจีนได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจำนวน 659 รายการจากสหรัฐ ในอัตรา 25% มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสินค้าล็อตแรกจำนวน 545 รายการ มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จะถูกเรียกเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจำนวนที่เหลือนั้น จะมีการประกาศหลังจากนั้น โดยมีเป้าหมายที่จะตอบโต้สหรัฐที่ประกาศเรียกเก็บสินค้าจากจีนจำนวน 1,100 รายการ ในอัตรา 25% คิดเป็นมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน
  # ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและบรรดาประเทศคู่ค้า โดยขณะนี้แคนาดาได้เริ่มบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐเป็นวงเงิน 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อตอบโต้ต่อการที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากแคนาดา ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ขู่เรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 2.94 แสนล้านดอลลาร์ หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเพิ่มการจัดเก็บภาษีต่อรถยนต์นำเข้าจากยุโรป
-/• พฤหัสเฟดประชุม และศุกร์นี้ประกาศตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร
  # จับตารายงานการประชุมประจำเดือนมิ.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพฤหัสบดีนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าวันศุกร์นี้ตามเวลาไทย
  # นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนมิ.ย.ของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ หลังจากที่ตัวเลขจ้างงานเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 188,000 ตำแหน่ง
+/- ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐแข็งแกร่ง แต่ยุโรปกลับอ่อนลง
  # ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐแข็งแกร่ง โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM พุ่งขึ้นสู่ระดับ 60.2 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 58.7 ในเดือนพ.ค. ซึ่งปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว
  # ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน อยู่ที่ระดับ 54.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน นอกจากนี้ยังต่ำกว่าตัวเลขดัชนี PMI เบื้องต้นประจำเดือนมิ.ย.ที่ระดับ 55.0 และต่ำกว่าตัวเลขดัชนี PMI ขั้นสุดท้ายประจำเดือนพ.ค.ที่ระดับ 55.5
  # ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของสหรัฐพุ่งขึ้น 4.5% ในเดือนพ.ค.
- ดอลลาร์แข็งค่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐสดใส
  # ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใส ซึ่งรวมถึงดัชนีภาคการผลิตที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในเดือนมิ.ย.ขณะยูโรอ่อนค่าลงเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในเยอรมนี
  # สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในเยอรมนี หลังจากนายฮอร์สท์ ซี โฮเฟอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยของเยอรมนีได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และยังได้ลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ด้วยเช่นกัน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทระหว่างนายซีโฮเฟอร์ และนางอังเกลา แมร์เคิลนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เกี่ยวกับนโยบายผู้ลี้ภัย
+ จีนเตรียมประกาศมาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศ
  # ทางการจีนได้ทำการทบทวนข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดของการลงทุนจากต่างประเทศ และจะเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณชนในเร็วๆนี้
  # ข้อจำกัดได้แก่ ด้านพลังงาน, ทรัพยากร, โครงสร้างพื้นฐาน, การคมนาคม, กระแสการหมุนเวียนด้านการค้า และการให้บริการระดับมืออาชีพ จะถูกยกเลิกหรือผ่อนคลายลง เพื่อให้สอดคล้องกับที่รัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการเปิดเสรีในภาคการเงินและยานยนต์เมื่อไม่นานมานี้
- ราคาน้ำมันปรับลง วิตกข่าวซาอุฯ-รัสเซียผลิตน้ำมันเพิ่ม
  # สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 21 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 73.94 ดอลลาร์/บาร์เรล
  # สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 1.93 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 77.30 ดอลลาร์/บาร์เรล
  # สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากรายงานการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย รวมทั้งการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย.
+ ภาวะตลาดหุ้น : ดาวโจนส์ปรับขึ้น หุ้นกลุ่มเทคโนฯปรับขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจสดใส
  # ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,307.18 จุด เพิ่มขึ้น 35.77 จุด หรือ +0.15% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,726.71 จุด เพิ่มขึ้น 8.34 จุด หรือ +0.31% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,567.69 จุด เพิ่มขึ้น 57.38 จุด หรือ +0.76%
  # ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ดีดตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่ม FAANG (เฟซบุ๊ก แอปเปิล อเมซอน เน็ตฟลิกซ์ และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล) หลังจากมีการคาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 2 ปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย. อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและบรรดาประเทศคู่ค้า
• ทองคำปรับลง หันไปเก็งกำไรดอลลาร์สหรัฐ
  # สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 12.80 ดอลลาร์ หรือ 1.02% ปิดที่ 1,241.70 ดอลลาร์/ออนซ์
  # สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 1% เมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้ส่งผลให้สัญญาทองคำมีความน่าดึงดูดน้อยลง นอกจากนี้ การดีดตัวขึ้นของดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังทำให้นักลงทุนเทขายทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
• ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่จะประกาศต่อไป
  # สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค., ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนมิ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และดุลการค้าเดือนพ.ค.

ปัจจัยในประเทศ และข่าวเด่นหลักทรัพย์
+ ราคาน้ำมันดันเงินเฟ้อ มิ.ย.เป็น 1.38% y-o-y
  # อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 1.38%YOY ชะลอลงจาก 1.49%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2018 อยู่ 0.97%YOY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นไปที่ 0.83%YOY จาก 0.80%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.69%YOYราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปอย่างต่อเนื่องแต่ราคาอาหารสดกลับมาหดตัว
  # กระทรวงพาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. 61 เพิ่มขึ้น 1.38% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 พร้อมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้เป็น 0.8-1.6% จากเดิม 0.7-1.7% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยน่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 1-4%
  # สำหรับแนวโน้มครึ่งหลังปี 2561 โฆษกกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า เครื่องชี้วัดต่างๆ โดยรวมยังสะท้อนว่า การบริโภคและการใช้จ่ายของทั้งภาครัฐและเอกชน //การจ้างงาน //การจัดเก็บรายได้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบในช่วงที่ผ่านมายังอยู่ในระดับดีและเอื้อต่อการบริโภค ประกอบกับโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
+ ธปท.เผยดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจ มิ.ย.61 ดีขึ้น
  # ธปท. เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน มิ.ย.61 ปรับดีขึ้นจากระดับ 51.5 ในเดือน พ.ค.61มาอยู่ 52.8 โดยเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบจากธุรกิจในภาคการผลิตเป็นสำคัญ อาทิ ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ และผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย จากความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการการผลิต และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนมากเป็นคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
+/• กสทช.ปรับราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 900MHz ลง 2 พันลบ.เพื่อให้นำไปใช้ทำระบบป้องกันคลื่นรบกวน
  # คลื่น 900 MHz ให้ราคาเริ่มต้นที่ 35,988 ล้านบาท จากราคาเดิมที่กำหนดไว้ครั้งแรกที่ 37,988 ล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ประมูลได้ต้องมีต้นทุนที่ต้องไปจัดทำระบบป้องกันคลื่นรบกวนประมาณ 2,000 ล้านบาท จึงให้ลดราคาเริ่มต้นในการประมูลลง โดยจะจัดให้มีการเคาะราคาในวันที่ 18 ส.ค..
  # ผลกระทบ: หากผู้ชนะประมูลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการทำระบบป้องกันคลื่นรบกวนได้ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ก็จะสามารถประหยัดเงินลงทุนได้ แต่ในทางกลับกันหากค่าใช้จ่ายสูงกว่า 2,000 ล้านบาท ก็ต้องพยายามประหยัดให้อยู่ในวงเงิน มิฉะนั้นจะมีภาระการลงทุนมากขึ้น ฝ่ายวิจัยฯ ยังคงคำแนะนำ ซื้อ สำหรับ ADVANC (ราคาพื้นฐาน 232.00 บาท) และ DTAC (ราคาพื้นฐาน 53.50 บาท)
+/• กสทช.กล่าว หาก DTAC เข้าร่วมประมูล 1800 MHz ก็จะมีโอกาสเยียวยา
  # สำหรับการเยียวยาผู้ใช้บริการคลื่น 1800 MHz ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงนั้น หาก DTAC แสดงความจำนงที่เข้าประมูลในวันที่ 8 ส.ค.แสดงว่าดีแทคต้องการใช้งานคลื่นความถี่ต่อไปก็จะมีสิทธิเข้าสู่มาตรการเยียวยา แต่หากไม่เข้าประมูลแสดงว่าไม่ต้องการใช้งานคลื่นความถี่นั้นแล้วจึงไม่มีสิทธิเข้าสู่มาตรการเยียวยา
  # ผลกระทบ: ถือว่า กสทช.เปิดเงื่อนไขที่ดีขึ้นให้กับ DTAC คือ มีโอกาสที่จะได้รับการเยียวยาได้ จากก่อนหน้าที่ไม่มีโอกาสแต่อย่างใด
- RPขอสู้ประเด็นข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย
  # RPขอสู้ประเด็นข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย หลังได้รับเอกสารคดีฟ้องร้องจากเหตุการณ์เรือเฟอร์รี่เกยตื้น เรียกค่าเสียหาย20ลบ. ระบุไม่กระทบรายได้ปัจจุบันและอนาคต
+/- บาทอ่อนส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มส่งออก แต่เป็นลบกับผู้นำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ
  # หลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออก ที่ได้รับผล sentiment ด้านบวก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ KCE, HANA, DELTA, SVI กลุ่มเกษตร-อาหาร ได้แก่ CPF, TU, GFPT, TIPCO, MALEE และหลักทรัพย์ท่องเที่ยวได้ประโยชน์ คือแลกเหรียญเป็นบาทได้มากขึ้นเป็น sentiment บวกกับ ERW, CENTEL และ MINT ด้านหลักทรัพย์เสียประโยชน์คือนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ได้แก่ TVO, TSTH, IRPC, BCP, SAT, STANLY, AH, COM7, SYNEX และ SIS รวมทั้งหลักทรัพย์ที่มีหนี้เงินกู้ต่างประเทศจะมีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ AAV, THAI และ RCL เป็นต้น


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.ค. 2561 เวลา : 09:56:03

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 2:12 pm