ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน แรงเสริม ดอลลาร์อ่อน น้ำมันปรับขึ้น สถาบันดัน (04/07/61)


 “แรงเสริม ดอลลาร์อ่อน น้ำมันปรับขึ้น สถาบันดัน”

• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : GFPT (จาก Fully Valued เป็น ถือ)
  ภาวะตลาดและปัจจัย : ตลาดวานนี้– SET Index ดีดตัวขึ้นต่อถึง 19.35 จุด ปิดที่ 1626.62 จุด ปรับขึ้นดีเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค มูลค่าซื้อขายดีขึ้นที่ 58.6 พันล้านบาท ถือว่า SET ปิดใกล้ยอดสูงสุดของวันที่ 1628.30 จุด แม้ปัจจัยลบเดิมๆจากต่างประเทศยังกดดัน แต่ดัชนีฯได้ปรับลงมาลึกและเร็วเกินไป จน P/E เริ่มถูก และอัตราผลตอบแทนปันผลสูงขึ้น ก็ผลักดันตลาดฯให้ปรับขึ้นได้ การที่ SET กลับมายืนเหนือ 1600 จุดได้ถือเป็นปัจจัยบวก หลักทรัพย์กลุ่มหลักปรับเพิ่มขึ้นดี ส่วนหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลงมากก่อนหน้า ก็ฟื้นตัวมากเช่นSUPERและPTTGC ด้านผู้ซื้อสุทธิรายเดียวต่อ คือ สถาบัน 4.5 พันลบ. ด้านผู้ขายสุทธิคือ ต่างประเทศ3.3 พันลบ. รายย่อย 1.0 พันลบ.และบัญชีหลักทรัพย์ 0.2 พันลบ.
  แนวโน้มและกลยุทธ์– SET มีแรงเสริมระยะสั้นๆคือ ดอลลาร์กลับมาอ่อนค่า บาทแข็งขึ้น ชะลอเงินไหลออก นำมันกลับมาปรับขึ้น เสริมหุ้นกลุ่มพลังงาน สถาบันกลับมาซื้อหนักตลาดหุ้นเพื่อนบ้านเช้านี้ส่วนใหญ่แกว่งแคบในลักษณะเป็นบวก-ลบ ดาวโจนส์ล่วงหน้าเช้านี้ +4 จุด ช่วงนี้ SET รีบาวด์แรง คาดว่าเพราะราคาหุ้นที่ผ่านมาปรับลงไปมาก สำหรับ P/E ตลาดที่ DBS ประเมินปีนี้และปีหน้าเป็น 14.5 และ 13.2 เท่า ตามลำดับ ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเอเชีย แต่ก็ถือว่าเป็นระดับที่เริ่มไม่แพงเทียบกับอดีต และหากเทียบกับกลุ่ม US,EU & ญี่ปุ่น ที่ 16.4 และ 14.7 เท่า ตามลำดับ ไทยถูกกว่า ปันผลสูง ส่วนเรื่องสงครามการค้า จับตาวันพฤหัสรายงานผลประชุมเฟด มิ.ย. และวันศุกร์ 6 ก.ค.61 มีตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร และจีน-สหรัฐจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้า ส่วนเฟดคาดปีนี้จะปรับขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง (ปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี) และปีหน้าอีก 3 ครั้ง ทำให้แนวโน้มดอลลาร์แข็งค่า และเงินไหลออกกลับไปสหรัฐ นับว่าปัจจัยต่างประเทศยังกดดันในเรื่องกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ส่วนปัจจัยบวกคือ การเลือกตั้งไทยยังเป็นไปตามโรดแม็ป เศรษฐกิจไทยยังดี ตัวเลข พ.ค.61 ขยายตัวดีต่อเนื่อง และเงินเฟ้อยังไม่น่าห่วง แม้น้ำมันปรับขึ้น แต่เริ่มกังวลไทยจะได้รับผลกระทบสงครามการค้า เพราะเราเป็นห่วงโซ่ผู้รับจ้างผลิตและส่งออก จึงอาจได้รับผลลบได้ กลยุทธ์ในสัปดาห์นี้ ยังคงเน้นลงทุนหุ้นรายตัว (Selective Buy) ที่มีพื้นฐานดี และมีประเด็นที่น่าสนใจในระยะนี้ หุ้นส่งออกได้ประโยชน์จากบาทอ่อน การที่ SET ปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้หุ้นพื้นฐานดี Blue Chip หลายตัวย่อลงมาให้ซื้อได้ เช่น AOT, ADVANC, BBL, CPALL, KBANK, PTTGC และ SCC เป็นต้น นักลงทุนระยะสั้นควรเล่นรอบสั้นๆ ไม่หวังกำไรมาก ระยะกลาง-ยาวควรตั้งเป้าผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม และทยอยขายทำกำไรเมื่อได้ตามเป้าหมาย ล็อคกำไร ลดความเสี่ยง ระยะนี้คาดว่า SET จะซื้อขายอยู่ในกรอบเป็น 1580-1640 จุด
 Update หุ้นเด่น: CPALL – ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง แม้ธุรกิจค้าส่งเพียงทรงตัว ผลพวงจากอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (SSSG) ปรับขึ้นดี และการขยายสาขาเพิ่ม มีการขยายสาขาในเชิงรุก ร้านสะดวกซื้อสะสมมากถึง 10,533 แห่ง ณ 1Q61 คาดการณ์อัตราการเติบโตกำไรหลักปีนี้และปีหน้าดีเป็น 14%/16% ตามลำดับ คงคำแนะนำ ซื้อ ถือเป็นตัวแทนกลุ่มพาณิชย์ ที่กำลังฟื้นตัวสูงตามภาวะเศรษฐกิจไทย ด้วยราคาพื้นฐาน 95.00 บาท ประเมินด้วยวิธี DCF แม้ว่าธุรกิจค้าส่งแบบ cash and carry ที่ต่างประเทศได้ส่งผลขาดทุนเข้ามาในระยะนี้ก็ตาม แต่คาดว่าจะส่งผลดีในระยะยาวต่อไป เมื่อสามารถกลับมาเป็นกำไรได้
  การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ระยะสั้น Candlestick & Indicators เป็นบวกเล็กๆ แต่ความน่าจะเป็นของตลาดฯระยะกลางมีน้ำหนักเป็นการลง ตามโครงสร้าง อย่างไรก็ตามอาจมีรีบาวด์สั้นๆก่อนจึงปรับลง ซื้อเน้นค่าบวก แนวต้านระยะสั้นอยู่ที่ 1630-1640, 1650 โดยมีแนวรับ 1580-1570
  สำหรับการ Scan หุ้นที่มีโอกาสทำ New high ที่เข้ามาใหม่เป็น KTC, SPALI, DELTA, GULF, BDMS, BJC, AKR ที่ยังคงอยู่ใน List ได้แก่ PTT, PTTGC, TCAP, ADVANC, GLOBAL หุ้นที่หลุด List -ไม่มี- และที่ให้หาจังหวะTake profit CPN, HMPRO

Key Drivers TODAY
ปัจจัยต่างประเทศ
-/• พฤหัสเผยข้อมูลเฟดประชุม และศุกร์นี้ประกาศตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร
  # จับตารายงานการประชุมประจำเดือนมิ.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพฤหัสบดีนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าวันศุกร์นี้ตามเวลาไทย
  # นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย พร้อมกับจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนมิ.ย.ของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ ขณะนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.จะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ 3.8%
-/+ จับตา 6 ก.ค.61 วันเริ่มเก็บภาษีนำเข้า จีน-สหรัฐ
  # รัฐบาลจีนได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจำนวน 659 รายการจากสหรัฐ ในอัตรา 25% มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสินค้าล็อตแรกจำนวน 545 รายการ มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จะถูกเรียกเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจำนวนที่เหลือนั้น จะมีการประกาศหลังจากนั้น โดยมีเป้าหมายที่จะตอบโต้สหรัฐที่ประกาศเรียกเก็บสินค้าจากจีนจำนวน 1,100 รายการ ในอัตรา 25% คิดเป็นมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน
  # ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและบรรดาประเทศคู่ค้า โดยขณะนี้แคนาดาได้เริ่มบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐเป็นวงเงิน 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อตอบโต้ต่อการที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากแคนาดา ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ขู่เรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 2.94 แสนล้านดอลลาร์ หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเพิ่มการจัดเก็บภาษีต่อรถยนต์นำเข้าจากยุโรป
- สหรัฐอาจปฏิเสธไชน่า โมบายล์เข้าทำธุรกิจที่สหรัฐฯ
  # มีรายงานข่าวที่ว่า รัฐบาลสหรัฐอาจปฏิเสธคำร้องของบริษัทไชน่า โมบายล์ ในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในสหรัฐ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ขณะที่ในวันศุกร์ที่ 6 ก.ค.นี้ จะเป็นวันที่สหรัฐเตรียมเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนจำนวนมากกว่า 800 รายการ คิดเป็นมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ทางด้านจีนก็เตรียมเก็บภาษี 25% ต่อสินค้าสหรัฐในวงเงินเดียวกันในวันดังกล่าวเช่นกัน
- คำสั่งซื้อภาคโรงงานสหรัฐสูงกว่าคาด
  # กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพ.ค. หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนเม.ย. ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานจะทรงตัวในเดือนพ.ค.
+ ดอลลาร์อ่อนค่า รอดูรายงานเฟดและตัวเลขจ้างงาน
  # ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ก.ค.) ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย พร้อมกับจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำวันที่ 12-13 มิ.ย.ในวันพฤหัสบดีนี้ รวมทั้งตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมิ.ย.ในวันศุกร์นี้ เพื่อบ่งชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในปีนี้
+ ราคาน้ำมันปรับขึ้น รับข่าวส่งออกน้ำมันลิเบียถูกกระทบ
  # สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 20 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 74.14 ดอลลาร์/บาร์เรล
  # สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 46 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 77.76 ดอลลาร์/บาร์เรล
  # สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเมื่อคืนนี้ (3 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากรายงานข่าวที่ว่าลิเบียประกาศภาวะสุดวิสัยในการส่งออกน้ำมัน และแคนาดาประสบปัญหาในการผลิตน้ำมัน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้
- ภาวะตลาดหุ้น : ดาวโจนส์ปรับลง หุ้นกลุ่มเทคโนฯตก วิตกสงครามการค้า
  # ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,174.82 จุด ลดลง 132.36 จุด หรือ -0.54% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,713.22 จุด ลดลง 13.49 จุด หรือ -0.49% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,502.67 จุด ลดลง 65.01 จุด หรือ -0.86%
  # ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (3 ก.ค.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นเฟซบุ๊กที่ดิ่งลงกว่า 2.3% หลังจากสื่อรายงานว่า หน่วยงานต่างๆของสหรัฐกำลังขยายขอบข่ายการสอบสวนกรณีที่แคมบริดจ์ อนาลิติกา ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการเมือง มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊ก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
• ทองคำปรับขึ้น หลังดอลลาร์สหรัฐอ่อน
  # สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 11.80 ดอลลาร์ หรือ 0.95% ปิดที่ 1,253.50 ดอลลาร์/ออนซ์
  # สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (3 ก.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์นอกจากนี้ การที่ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงเมื่อคืนนี้ ยังส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอีกครั้ง
• ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่จะประกาศต่อไป
  # ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนมิ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และดุลการค้าเดือนพ.ค.

ปัจจัยในประเทศ และข่าวเด่นหลักทรัพย์
+ กกร.ปรับเพิ่มการขยายตัว GDP และการเติบโตภาคส่งออก
  # คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 61 เป็น 4.3-4.8% จากเดิม 4.0-4.5% และปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นเป็น 0.9-1.5% จากเดิม 0.7-1.2% เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ จากมุมมองที่บวกขึ้นของการส่งออก การท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมกันนั้น กกร.ยังปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 61 เป็น 7.0-10.0% จากเดิม 5.0-8.0%
• สรท.คงเป้าส่งออกปี 61 โต ส่งออกปีนี้โต 8%
  # สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ยังคงเป้าการส่งออกไทยในปี 2561 เติบโตที่ 8% แต่ได้ปรับสมมติฐานค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ส่วนผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าคงยังไม่เห็นผลในเร็ววันนี้ อย่างน้อยต้องรออีก 2-3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้
+ ครม. คงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไปอีก 1 ปี
  # ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เหลือ 7% ออกไปอีก 1 ปี จากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.61 โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.61 - 30 ก.ย.62
  # ผลกระทบ: กลุ่มอุตสาหกรรมพาณิชย์จึงไม่ได้รับผลกระทบในแง่ราคาสินค้าจะแพงขึ้น หลักทรัพย์แนะนำ ซื้อ ในกลุ่มนี้ คือ CPALL, BJC, HMPRO และ MC
-/• สมาคมตราสารหนี้คาดอัตราดอกเบี้ยกว่าจะปรับขึ้นเป็น ไตรมาส 1/62
  # กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA กล่าวว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังปรับตัวขึ้นค่อนข้างช้า โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ตลอดทั้งปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ถึงกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 1/62
•/- ธปท.คาดบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาค และการส่งออก 2H61 โตชะลอลง
  # ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทล่าสุดว่า ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาคจึงไม่น่าเป็นห่วง แม้ค่าเงินจะเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงน้อยกว่าประเทศอื่น เพราะฐานะต่างประเทศของไทยเข้มแข็ง มีกันชนพอสมควร มีหนี้ต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ไม่อ่อนไหวต่อปัจจัยเงินไหลออกในบางช่วง และมีสัดส่วนสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.5 เท่า เงินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้คาดว่าจะมากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สูงต่อเนื่องจากปีก่อนที่ประมาณ 4.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
  # ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ประเมินว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 2 หลัก ขณะที่แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยาวไปจนถึงปีหน้า คาดว่าจะชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมากจากฐานส่งออกที่สูงในช่วงก่อนหน้าและปัจจัยในเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยไม่นับรวมปัญหาสงครามการค้า แต่การส่งออกทั้งปีเชื่อว่าจะยังเป็นไปตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ที่ 9%
+ GUNKUL ได้งานโซลาร์รูฟท็อป มูลค่า 1.4 พันล้านบาท
  # GUNKUL คว้างานติดตั้งโซลารูฟท็อป "CPF Solar Rooftop " บนหลังคาโรงงาน 34 แห่ง มูลค่า 1.4 พันลบ. แย้มเจรจาติดตั้งSolar Rooftop ในโรงงานเพิ่ม 20 MW หนุนกำลังการผลิตสิ้นปีนี้ทะลุเป้าแตะ 583 MW มั่นใจรายได้ปีนี้โต 20% หลังรับรู้รายได้จากการขายไฟเพิ่ม -ไม่มีการบันทึกผลการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
+ GIFT ประกาศซื้อหุ้นคืน
  # บอร์ด GIFT อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน เพื่อบริหารทางการเงิน จำนวน 12 ล้านหุ้น วงเงิน 60 ลบ. เริ่ม18 ก.ค. 61 -17 ม.ค. 62
• BAFS: PTT ขายหุ้นออกไปทั้งหมด 7.06% แต่บริษัทในกลุ่มเป็นผู้ซื้อ
  # ก.ล.ต.แจ้งว่า PTT ขายหุ้น BAFS ที่ถือทั้ง 7.06% แต่ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก เข้าซื้อหุ้น BAFS 7.06%
  # ผลกระทบ: ไม่มี คาดว่าเป็นการปรับโครงสร้างการถือหุ้นให้มีความเหมาะสม จึงไม่ถือเป็นข่าวลบ
• อสังหาริมทรัพย์: แนวราบชิงกำลังซื้อ ครึ่งปีแรกห้องชุดแผ่ว
  # ผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น ส่งผลให้ยอดเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
  # ผลกระทบ: ทีมกลยุทธ์ DBS เห็นว่าไม่มีผลกระทบนัก เป็นไปตามความต้องการของตลาด เนื่องจากรถไฟฟ้าและระบบคมนาคมที่ดีขึ้นทำให้ทาวน์เฮ้าส์ไม่ไกลจากรถไฟฟ้ามาทดแทนคอนโดได้บางส่วน และผู้ซื้อได้เป็นบ้านที่มีพื้นที่มากกว่าอีกทั้งข้อดีบ้านแนวราบคือ มีการเก็งกำไรน้อยมาก ต่างจากคอนโด ด้านผู้ประกอบการก็สร้างและโอนได้เร็ว ปัจจุบันใช้เวลาสร้างเพียง 3-4 เดือน ขณะที่คอนโดใช้เวลา 1.5-2 ปี ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการเปลี่ยนมือหรือขายต่อคอนโดเก็งกำไรซบเซาลงมาหลายปีแล้ว จึงทำให้ความต้องการคอนโดในส่วนนี้น้อยลง
  # คำแนะนำ: ภาวะตลาดหุ้นที่ย่ำแย่ ทำให้หลักทรัพย์พื้นฐานดีในกลุ่มที่อยู่อาศัยมีราคาถูก และปันผลได้สูงขึ้น หลักทรัพย์ที่แนะนำ ซื้อ คือ ANAN, AP, GOLD, LALIN, LH, ORI, PF, PRIN,QH, SC และ SENA
+/- บาทอ่อนส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มส่งออก แต่เป็นลบกับผู้นำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ
  # หลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออก ที่ได้รับผล sentiment ด้านบวก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ KCE, HANA, DELTA, SVI กลุ่มเกษตร-อาหาร ได้แก่ CPF, TU, GFPT, TIPCO, MALEE และหลักทรัพย์ท่องเที่ยวได้ประโยชน์ คือแลกเหรียญเป็นบาทได้มากขึ้นเป็น sentiment บวกกับ ERW, CENTEL และ MINT ด้านหลักทรัพย์เสียประโยชน์คือนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ได้แก่ TVO, TSTH, IRPC, BCP, SAT, STANLY, AH, COM7, SYNEX และ SIS รวมทั้งหลักทรัพย์ที่มีหนี้เงินกู้ต่างประเทศจะมีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ AAV, THAI และ RCL เป็นต้น


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ก.ค. 2561 เวลา : 09:50:41

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 2:06 pm