ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน ตลาดหุ้นไทยฟื้นเหนือ 1700 จุด (08/08/61)


 กลยุทธ์การลงทุน

  ตลาดหุ้นไทยฟื้นเหนือ 1700 จุด แต่ไม่น่าจะยืนอยู่ได้ เพราะสหรัฐได้ประกาศกีดกันการค้าจีนรอบ 2 และจะประกาศรอบ 3 ตามมา ซึ่งคาดว่ากระทบเศรษฐกิจโลกนับจากนี้  และการขึ้นดอกเบี้ยโลก น่าจะยังหนุน Fund flow ไหลออกมากกว่าเข้าไทย รวมถึงแรงขายรับงบ 2Q61 และเข้าสู่การจ่ายปันผล (XD) กลยุทธ์ให้เน้นรายหุ้นที่กระทบจากปัจจัยภายนอกน้อย และราคาหุ้นมี upside (AMATA, BJC, BH, DTAC, EASTW, BBL, CPF) Top picks คือ BBL(FV@B220), AMATA (FV@B35.7) และ EASTW (FV@B14.6) ราคาหุ้นยัง Laggard     

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้…. กลับมายืนเหนือ 1700 จุด (อีกครั้ง) 
  วานนี้ตลาดหุ้นไทยรีบาวด์กลับมายืนเหนือ 1700 จุด โดยปิดตลาดที่ 1707.26 จุด เพิ่มขึ้น 11.02 จุด หรือ 0.65% มูลค่าการซื้อขาย 4.96 หมื่นล้านบาท แรงหนุนหลักมาจากหุ้นในกลุ่มพลังงานโดย PTT และ PTTEP ปรับตัวขึ้น 1.46% และ 2.15% ตามลำดับ ตามด้วย  IVL +3.95%  และ PTTGC +1.20% เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มค้าปลีกนำโดย MAKRO +2.08% และ CPALL +0.69% ขณะที่ THCOM +5.14% หลัง Analyst meeting บริษัทเปิดเผยแนวทางแก้ไขธุรกิจดาวเทียม แต่ยังเผชิญปัญหาใหญ่คือ ทีวีดิจิทัลซึ่งเป็นลูกค้าหลักยังอยู่ในช่วงขาลง รวมถึงแนวทางต่อยอดธุรกิจใหม่ยังไม่เห็นกำไรในระยะ 2-3 ปี
  แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ แม้จะกลับมายืนเหนือ 1700 จุด แต่เชื่อว่าเป็นการหมุนเวียนสลับกลุ่ม ยังให้น้ำหนักสงครามการค้าสหรัฐ-จีน  ตามด้วยการประชุม กนง. วันนี้  8 ส.ค. คาดจะคงดอกเบี้ยฯ แต่ไม่อาจต้านกระแสโลกได้ สะท้อนจากที่ทางธนาคารฯ ได้ทยอยขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว คือ SCB   และแรงขายรับงบ 2Q61 ของ Real sector  ซึ่งหลังจากนี้จะตามด้วยการประกาศขึ้น XD    

คาด กนง. ยังยืนดอกเบี้ยแต่ภาคเอกชนนำร่องขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว
  หลังจากการประชุมธนาคารกลางหลายแห่งสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนใหญ่ทยอยขึ้นดอกเบี้ย ฯ คือ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้  0.25% เป็น 6.5% กังวลเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. ที่สูงราว 5%yoy (สูงกว่าเป้าที่ 4%)  และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ 0.25% เป็น 0.75% (เป็นการขึ้นครั้งที่ 2 หลังจากขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเมื่อปลายปี 2560 ราว 0.25%) เพราะเงินเฟ้อยัง 2.4% ในเดือน มิ.ย.  ยกเว้นธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คงดอกเบี้ยฯ ที่ 2.0% แต่คาดขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งๆ ละ 0.25% ในการประชุมที่เหลือ 3 ครั้งในปีนี้  (ดอกเบี้ยฯ สิ้นปีนี้อยู่ที่  2.5% vs เงินเฟ้อล่าสุด 2.9%) 
  และไทยวันนี้    8 ส.ค. การประชุม กนง.  เชื่อยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยฯ เงินเฟ้อ เดือน ก.ค. ยังอยู่ที่ 1.46% ใกล้เคียงดอกเบี้ยฯ 1.5% แต่จะไม่สามารถรอดพ้นกระแสโลกได้  สะท้อนสถาบันการเงินในประเทศนำร่องขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนแล้ว อาทิ SCB ขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 0.05% และขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์ใหม่ 0.5-1% (มีผล 15 ส.ค. นี้) เช่นเดียวกับ TCAP ก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น  เชื่อว่าหลังจากนี้ ธ.พ. แห่งอื่นๆ จะทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม  ซึ่งดีต่อหุ้นกลุ่ม ธ.พ.
  ASPS  ประเมินว่าทุก 25 bp ของการอัตราดอกเบี้ย จะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 ของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 5.6% โดย KTB กำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด 11.71% ตามด้วย BBL 8.07% TMB 7.99% และ LHFG 5.82% ตรงข้ามกับ BAY, TISCO, KKP และ TCAP ที่ได้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากมีสัดส่วนโครงสร้างสินเชื่อ กับเงินฝากและเงินกู้ยืมที่เป็นลอยตัวน้อยกว่าคงที่ เมื่อรวมกับปัจจัยพื้นฐาน จึงยังแนะนำ BBL (FV@B220)

สหรัฐประกาศกีดกันการค้ารอบ 2 และจะมีรอบ 3 ตามมา  
  สงครามการค้าสหรัฐ–จีนยังคงเดินหน้า หลังจากมีการตอบโต้รอบแรก (6 ก.ค. อัตราภาษี 25%) มูลค่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญฯ ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมาสหรัฐประกาศ วันขึ้นภาษีนำเข้ารอบ 2 อย่างเป็นทางการ คือ มีผลวันที่ 23 ส.ค. 2561 (จากเดิมจะมีผลต้น ส.ค.) คือ  มูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯ  จำนวนสินค้า 279 รายการ หลักๆเป็นสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักร,เทอร์โมมิเตอร์, รถจักรยานยนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเป็นประเด็นที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้าอยู่แล้ว  แต่จากนี้ให้น้ำหนักไปที่การขึ้นภาษีเข้ารอบ 3  อีก 2 แสนล้านเหรียญฯ ซึ่งสหรัฐได้เพิ่มอัตราภาษีเป็น 25% จากเดิมที่ 10% หลักๆ เป็นสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคและสินค้าจำเป็น (เกษตร, ประมง, เครื่องนุ่งห่ม, เฟอร์นิเจอร์) จะทำประชาพิจารณ์วันที่  5 ก.ย. 2561     
  ขณะที่จีนพร้อมตอบโต้เต็มที่ แต่วงเงินที่จีนจะตอบโต้ได้ไม่น่าจะเกิน 1.3 แสนล้านเหรียญ เท่ากับที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ  หลังจากจีนได้ขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐรอบแรก 3.4 หมื่นล้านเหรียญฯ อัตรา 25% เท่ากัน และพร้อมจะตอบโต้รอบ 2 อีก 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯ หลักๆเป็น สินค้า ถ่านหิน น้ำมันดิบ อุปกรณ์ทางการแพทย์    และ จีนจะประกาศตอบโต้รอบที่ 3 วงเงิน  6 หมื่นล้านเหรียญฯ  อัตราภาษี 5-25%  หลักๆ เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น  
คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง  และ เอเชีย เป็น 1 ใน คู่ค้าหลักของจีน (สัดส่วน 50% ของการค้าขายของจีนทั่วโลก) น่าจะได้จะรับผลกระทบ แต่จะชัดเจนในปีหน้า และน่าจะกดดันต่อความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ในลำดับตามมา (น้ำมัน ถ่านหิน และ ปิโตรเคมี เป็นต้น) ผลกระทบที่เห็นจากการขึ้นภาษีในรอบแรก ทำให้ฝั่งสหรัฐ ต้องออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อาทิ ถั่วเหลือง และฝั่งจีน คือผู้ผลิตรถยนต์ BMW, Tesla  ทยอยขึ้นราคาสินค้า เพื่อสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น 

คาด DTAC/ADVANC สนใจเข้าร่วมประมูล 900/1800 Mhz  
  วานนี้เป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้ผู้สนใจรับเอกสาร เข้าร่วมประมูล 900 และ 1800 Mhz ส่วนวันนี้เป็นวันที่ กสทช. จะให้ผู้ที่สนใจยื่นซองประมูล คาดว่า DTAC และ  ADVANC สนใจเข้าร่วมประมูล หลังเข้ารับเอกสารตั้งแต่ ก.ค. 61 ส่วน TRUE แจ้งเป็นทางการแล้วว่าจะไม่เข้าร่วมประมูล   เชื่อว่าในสถานการณ์นี้ดีต่ออุตสาหกรรมและฝ่ายที่ต้องการคลื่น คือ DTAC ที่ต้องการคลื่นกลับมาแทนคลื่นสัมปทานเดิม (850 และ 1800 MHz)  กับ ADVANC ที่ต้องการคลื่นเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้งานต่อคลื่น 1 MHz หนาแน่นสุดที่ 0.7 แสนราย (เทียบกับ DTAC และ TRUE ที่ 0.43 และ 0.5 แสนราย)
  ซึ่งสถานการณ์การแข่งขันประมูลที่ลดลง หลัง TRUE ไม่เข้าร่วมทั้ง 900 และ 1800 MHz ขณะที่ DTAC เพิ่งประกาศจะเข้าร่วมเฉพาะ 1800 MHz ประกอบกับ การซอยใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz ออกเป็น 9 ใบ น่าจะช่วยให้ทั้ง 2 รายได้คลื่น 1800 MHz ในราคาใกล้เคียงตั้งต้น ซึ่งเทียบเคียงกับการประชุมรอบที่แล้ว (1800 MHz  ขนาด 5 MHz ใบละ 1.2 หมื่นล้านบาท) และ หากพิจารณาฐานะการเงิน  ทั้ง 2 รายมีความสามารถลงทุนใบอนุญาตเพิ่มได้อย่างสบาย
  ด้าน Valuation พบว่า ADVANC และ TRUE ซื้อขายกันระดับ EV/EBITDA ที่ 9.4 และ 9.1 เท่า ส่วน DTAC อยู่ที่ 4.8 เท่า ถูกสุดในกลุ่ม เชื่อว่าสะท้อนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ใบอนุญาตไปแล้ว ขณะที่การได้คลื่นใหม่ ๆ เข้ามาจะช่วยให้ DTAC จะกลับมามีความสามารถในการแข่งขันอีกครั้ง แต่การไม่ร่วมประมูลคลื่นสั้น 900 MHz ที่ส่งสัญญาณได้ไกล คาดบั่นทอนด้านความครอบคลุม 
  ส่วน ADVANC การมีคลื่นเพิ่มช่วยให้ประสิทธิภาพการให้บริการมากขึ้น และยังมีจุดเด่นที่ เตรียมพร้อมในการหาแหล่งรายได้ใหม่ (ลูกค้าองค์กร+บริการดิจิทัล) มาต่อยอดธุรกิจในระยะยาว ยังแนะนำ ซื้อ ADVANC(FV@B230 อิง DCF  WACC 9.1%, Growth 3%) และ DTAC(FV@B68 อิง DCF WACC 9.4%, Growth 2%)  
แต่สำหรับ TRUE(FV@B6.5 อิง DCF WACC 8.8%, growth 2.5%) การไม่ประมูล แม้จะช่วยประหยัดต้นทุน แต่ทำให้จุดเด่นที่มีศักยภาพเหนือคู่แข่งลดลง  จึงยังให้คำแนะนำ Swtich   

หุ้นธุรกิจการเงินรายย่อยเผชิญเกณฑ์ที่เข้มงวด และดอกเบี้ยขาขึ้น
  สศค. เตรียมเสนอร่าง พรบ.กำกับดูแล Non-bank (สินเชื่อเช่าซื้อ ลิสซิ่ง Factoring และ Pico Finance) ให้ ครม.เห็นชอบ หลังผ่านความเห็นการเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการและผู้กำกับดูแลแล้ว โดยร่าง พรบ.ฯ ดังกล่าว มุ่งไปที่การกำกับดูแล และ ความเป็นธรรมในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฯและค่าปรับจากผู้กู้ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่ได้ ถูกควบคุมในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม  ทั้งนี้หากพิจารณาโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมฯ และอื่นๆ  เมื่อเทียบกับรายได้รวม  บริษัทที่มีอัตราส่วนที่สูงกว่าอุตสาหกรรมที่เฉลี่ย 28% น่าจะได้รับผลกระทบมากสุดคือ  SINGER, LIT, IFS, SAWAD  ส่วนที่เหลือมีอัตราส่วนต่ำกว่าน่าจะกระทบน้อยสุด  คือ   S11, MTC, AEONTS  
  ส่วนเรื่องการควบคุมอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้ายังไม่มีความชัดเจน แม้ปัจจุบันผู้ประกอบการที่ให้สินเชื่อภายใต้สัญญาเงินกู้ยืม (Loan contract ส่วนใหญ่คือจำนำทะเบียนรถยนต์) จะคิดดอกเบี้ยไม่เกินเพดานตามกฎหมายที่ 15% อยู่แล้ว  แต่ในทางปฏิบัติ มีคิดธรรมเนียมจัดการสินเชื่อ เพิ่มเติม ทำให้ yield ของสินเชื่อรวม  สูงเกินเพดาน 15%  อย่างไรก็ตาม   SAWAD (โอนสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ไปปล่อยภายใต้ BFIT) และ MTC  (เปลี่ยนรูปแบบเป็น 2 สัญญา คือ สินเชื่อเงินกู้ยืม ควบสินเชื่อ Nano Finance) ได้มีการปิดความเสี่ยงแล้ว 
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากดอกเบี้ยขาขึ้น (สินเชื่อส่วนใหญ่มีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยคงที่ถึง 98% ของโครงสร้างสินเชื่อ ขณะที่ต้นทุนของเงินทุนในกลุ่มฯ โดยเฉลี่ยเป็นแบบคงที่ราว 56% ของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย) ทั้งนี้ ASPS  ประเมินถึงผลกระทบในกลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง   หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 25 bps จะกดดันกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2562  ราว 0.9% จึงยังให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มฯ น้อยกว่าตลาด เน้นกลยุทธ์ selective play เลือก THANI (FV@B10.10) ซึ่งมีจุดเด่นที่ กำไรสุทธิปี 2561เติบโต 19.8% yoy หนุนจากภาพรวมอุตสาหกรรมรถบรรทุกที่เติบโตแข็งแกร่งตามเศรษฐกิจ และมีความพร้อมในการตั้งสำรอง IFRS 9 นำหน้าคู่แข่งฯ  (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Equity Talk กลุ่มเช่าซื้อ 7 ส.ค.)

ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค 
  วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 67 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิวันก่อนหน้าเพียงวันเดียว) โดยภาพรวมแล้วต่างชาติยังคงซื้อสลับขายตลาดหุ้นในภูมิภาคมาตั้งแต่ต้นเดือน ซึ่งวานนี้มีเพียงตลาดหุ้นไต้หวันและฟิลิปปินส์ ที่ขายสุทธิ 45 ล้านเหรียญ และ 2 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 แห่งถูกซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ 40 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิวันก่อนหน้า) อินโดนีเซีย 7 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และตลาดหุ้นไทย ต่างชาติซื้อสุทธิอีก 67 ล้านเหรียญ หรือ 2.23 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7) ตรงข้ามสถาบันฯเดินหน้าขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องอีก  2.02 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) 
  ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติสลับมาขายสุทธิต่อเนื่องอีก 406 ล้านบาท ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี ของไทย ขยับขึ้นอีกเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 2.74% แต่ยังน้อยกว่า Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐที่ 2.97% มีโอกาสที่ Fund Flow จะไหลกลับไปหาตลาดตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบดีกว่า

แรงขายรับงบ 2Q61 และใกล้ขึ้น XD มีน้ำหนักมากขึ้น 
  การประกาศผลประกอบการฯ 2Q61 จากที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมจนถึงวานนี้ มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วราว 50 บริษัท คิดเป็น 34% ของ Market Cap. ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 1.06 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะบริษัทที่ประกาศงบฯ แล้วกับงวด 2Q60 พบว่าไตรมาสนี้เติบโตราว 12.1%yoy แต่หากเปรียบเทียบกับ 1Q61 พบว่าไตรมาสนี้กำไรฯ ลดลงราว 10.1%qoq ทั้งนี้ ในภาค Real Sector ที่ประกาศงบฯ แล้ว มีกำไรสุทธิรวมกันราว 4.86 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.2%yoy แต่ลดลง 3.5%qoq 
  ทั้งนี้ การรายงานงบฯ จะดำเนินไปจนถึงเช้าวันที่ 15 ส.ค. และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงของการขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล โดยบริษัทที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ ที่ขึ้น XD เช่น PTTEP (XD 8 ส.ค.@ 1.75 บาท), SCC(XD 8 ส.ค.@ 8.50 บาท),  ADVANC(XD 15 ส.ค.@ 3.78 บาท),  INTUCH(XD 16 ส.ค.@ 1.35 บาท), TU(XD 20 ส.ค.@ 0.25 บาท) , IVL(XD 20 ส.ค.@ 0.70 บาท)  เป็นต้น โดยรวมในเดือน ส.ค. นี้ คาดมีบริษัทรอขึ้นเครื่องหมาย XD ราว  135 บริษัท กระทบต่อตลาด 11.513 จุด และหากนับเฉพาะวันนี้ผลจากที่ PTTEP SCC ขึ้นเครื่องหมาย XD กระทบต่อดัชนีราว 1.7 จุด 

ส่วนบริษัทที่รายงานงบฯ ออกมาเพิ่มเติมคือ
  GPSC(Switch:FV@B72) กำไรสุทธิ 1.05 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14%qoq แต่หากไม่รวมกำไรพิเศษ Fx จะมีกำไรปกติ 1.02 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5%qoq  หนุนจากรายได้รวมที่สูงขึ้น ทั้งจากโรงไฟฟ้าศรีราชามีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น  สำหรับทิศทางกำไรปกติ 2H61 คาดอ่อนตัวลงจากแผนปิดซ่อมบำรุงประจำปี และภายใต้ประมาณการหลังรวม GLOW  (1 เดือน) โดยมีดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ระยะสั้นที่เกิดจากการซื้อ GLOW ทำให้กำไรสุทธิ 2561 ลดลง 23.4%yoy แต่ในปี 2562 คาดกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมีนัยฯจากการปรับโครงสร้างเงินทุนและการ COD อีก 3 โครงการของ GPSC  ทั้งนี้ ราคาหุ้นสะท้อนการเข้าซื้อ GLOW แล้ว อีกทั้งมีโอกาสไม่จ่ายปันผลสูง จึงแนะนำ switch ไป BPP (FV@30B)
TOP (Switch:FV@B93) กำไรสุทธิใกล้เคียงคาด เท่ากับ 4.8 พันล้านบาท ลดลง 14.5%qoq กดดันจากขาดทุน Fx 1.1 พันล้านบาท แต่ชดเชยกำไรสต๊อกฯที่สูงถึง 4.3 พันล้านบาท  แต่หากพิจารณากำไรจากการดำเนินงานปกติพบว่าลดลงถึง 58.3%qoq มาอยู่เพียง 1.5 พันล้านบาท จากต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น และ ค่าการกลั่น รวมถึง spread อะโรเมติกส์ ต่ำกว่าคาด สำหรับแนวโน้มกำไร 3Q61 คาดอ่อนตัวลง QoQ กดดันจาก Market GRM ที่เข้าสู่ช่วง low season (สมมติฐานไม่เกิดพายุเฮอริเคน) และ spread อะโรเมติกส์ที่คาดจะลดลงจาก supply ใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดในช่วง 2H61 อีกทั้งคาดจะไม่มีการบันทึกกำไรจากสต๊อกฯสูงเช่น 2Q61


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ส.ค. 2561 เวลา : 09:38:58

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:22 am