ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ (5 ม.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 33.94 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (5 ม.ค.66) ที่ระดับ 33.94 บาทต่อดอลลาร์
“แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.06 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หนุนโดยรายงานการประชุมล่าสุดของเฟดที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ แต่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราชะลอลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปบ้าง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth สามารถรีบาวด์ขึ้น และทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.69% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.75%

ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงเดินหน้าปรับตัวขึ้นราว +1.38% หนุนโดยรายงานดัชนี PMI ของยูโรโซนที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจไม่ได้รุนแรงมากนัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Dior +4.5%, Hermes +4.2%) ตามความหวังการทยอยเปิดเมืองของจีน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังรายงานการประชุมล่าสุดของเฟด ชี้ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อเศรษฐกิจ โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 104.2 จุด ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าจะถูกกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าทยอยขายทำกำไรทองคำต่อเนื่อง (ราคาทองคำแตะจุดสูงสุดราว 1,869 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อย) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า การบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนธันวาคม เร่งขึ้นสู่ระดับ 5.9% (ส่วนหนึ่งมาจากผลของฐานราคาที่ต่ำในปี 2021) แต่อัตราเงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวขึ้นไปมาก เนื่องจากราคาสินค้าพลังงานได้ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนธันวาคม

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาทนั้น ได้แรงหนุนหลักมาจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทย อาทิ บอนด์ระยะสั้น ที่มียอดซื้อสุทธิโดยนักลงทุนต่างชาติกว่า 16.5 หมื่นล้านบาท ในวันก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการเพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) ของนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง หากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวยังไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่ต้องระวังในกรณีที่เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ รวมถึงวันศุกร์ (รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม หรือ Nonfarm Payrolls) ออกมาดีกว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ได้บ้าง หลังเงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าใกล้โซนแนวรับสำคัญใหม่ แถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์

อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 05 ม.ค. 2566 เวลา : 10:42:35

29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 4:09 am