ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (6 ม.ค.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.03 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 ม.ค.66) ที่ระดับ 34.03 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังจากล่าสุดรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดย ADP ในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 2.35 แสนรายดีกว่าที่ตลาดคาดไว้เพียง 1.5 แสนราย นอกจากนี้ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ก็ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.04 แสนราย และ 1.69 ล้านราย ดีกว่าที่ตลาดคาด ความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดนั้น ได้สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดแตะระดับ 5.25% (จาก CME FedWatch Tool) ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3.73% กดดันให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ปรับตัวลงแรง และทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.57% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.16%

ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.20% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +1.3%, Equinor +0.7%) ตามการรีบาวด์ขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 105 จุด อีกครั้ง นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลงแรงสู่ระดับ 1,836 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะราคาทองคำย่อตัวลงในการทยอยเข้าซื้อ โดยเฉพาะหากราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจลดลงสู่ระดับ 2 แสนตำแหน่ง ตามการปรับแผนการจ้างงานของภาคธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง +0.4% จากเดือนก่อนหน้า (+5.0%y/y) ซึ่งภาพดังกล่าวจะชี้ว่า แม้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อผ่านตลาดแรงงาน (การเติบโตของค่าจ้าง) อาจชะลอลงตัวลงช้ากว่าที่เฟดต้องการ ทำให้เฟดยังคงกังวลแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ ซึ่งอาจสะท้อนในรายงานการประชุมล่าสุดของเฟด (FOMC Meeting Minutes) ที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงจนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) ในเดือนธันวาคม โดยตลาดประเมินว่า ภาคการบริการจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นและการขยายตัวของการใช้จ่ายในภาคการบริการ ทำให้ดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 55 จุด ทั้งนี้ การขยายตัวของภาคการบริการนั้น อาจทำให้เงินเฟ้อในส่วนภาคการบริการยังอยู่ในระดับสูงและอาจทำให้เงินเฟ้อโดยรวมชะลอลงยาก

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การพลิกกลับมาอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้น มาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงการปรับตัวลงของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ ส่วนในวันนี้ เราประเมินว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยต้องระวังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม การเติบโตของค่าจ้าง และดัชนี PMI ภาคการบริการ เนื่องจากในช่วงที่ตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดและสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้ออาจชะลอตัวลงได้ช้า จะกลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และส่งผลให้ตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ (Good News is Bad News for the Market) ซึ่งในภาวะดังกล่าว เราอาจเห็นเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวลงของราคาทองคำและเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากนัก โดยแนวต้านสำคัญของเงินบาทในระยะสั้นจะอยู่ในโซน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนในตลาด อาทิ บรรดาผู้ส่งออกบางส่วนก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่ผู้เล่นต่างชาติที่ยังคงมีมุมมองว่าเงินบาทจะสามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ ก็รอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการเพิ่มสถานะ Short USDTHB

อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.20 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ม.ค. 2566 เวลา : 10:22:46

29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 2:49 pm