ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (10 ม.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (10 ม.ค.66) ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์
“แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.54 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นร้อนแรงในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา ตามความหวังว่า เฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% ในการประชุมครั้งถัดไปเป็น 80%) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในวันนี้ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความระมัดระวังตัวมากขึ้นและยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงไปมาก ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.08%

ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เดินหน้าปรับตัวขึ้นกว่า +0.88% หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนโดย Sentix ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงยอดผลผลิตอุตสาหกรรมของเยอรมนี (Industrial Production) เดือนพฤศจิกายนที่ขยายตัวดีกว่าคาด นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักที่คลี่คลายลง ได้หนุนให้หุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นสไตล์ Growth ในฝั่งยุโรปต่างปรับตัวขึ้นร้อนแรง อาทิ ASML +6.4%, Adyen +3.2%

ทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.53% จากระดับ 3.88% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดผ่านถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงไฮไลท์สำคัญอย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI ทำให้ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.50% ก่อนที่จะรับรู้ปัจจัยดังกล่าว

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังแนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 103 จุด อีกครั้ง นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านแถวระดับ 1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้ามาขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงกลับมาใกล้ระดับ 1,874 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นพอสมควร

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน คือ ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ซึ่งเรามองว่า หากในช่วงนี้ ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จากความหวังว่าเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ประธานเฟดก็อาจพยายามปรับลดความคาดหวังดังกล่าวของผู้เล่นในตลาด ด้วยการส่งสัญญาณเน้นย้ำจุดยืนว่า เฟดจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงจนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ในช่วงก่อนที่ตลาดจะรับรู้ ถ้อยแถลงของประธานเฟดนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) Haruhiko Kuroda ว่าจะมีการเปิดเผยมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของ BOJ อย่างไรบ้าง หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า BOJ อาจใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในปีนี้ (ตลาดมอง BOJ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ +0.10% ราว 2 ครั้งในปีนี้) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่นผันผวนในฝั่งแข็งค่ามากขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แรงหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ยังคงเป็นปัจจัยเดิม ทั้ง ความหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งสะท้อนผ่านแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงความหวังว่าเฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี เรามองว่า บรรยากาศในตลาดอาจเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น ในช่วงทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด ซึ่งคาดว่า ประธานเฟดจะเน้นย้ำจุดยืนความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งมุมมองดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่คงไม่มากนักเพราะผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานเงินเฟ้อ CPI ในวันพฤหัสฯ นี้

และนอกเหนือจากถ้อยแถลงของประธานเฟด เรามองว่า ควรระวังถ้อยแถลงของผู้ว่าฯ BOJ Kuroda เนื่องจาก หากผู้ว่าฯ BOJ ส่งสัญญาณสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ก็อาจกดดันให้เงินเยนผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้างเช่นกัน

ทั้งนี้ เราประเมินว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways Down (ทยอยแข็งค่าขึ้นได้) โดยจะมีโซนแนวต้านสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่โซนแนวรับเบื้องต้นจะอยู่ในช่วง 33.25-33.30 บาทต่อดอลลาร์

อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ม.ค. 2566 เวลา : 10:17:56

29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 1:16 pm