ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (19 ม.ค.66) อ่อนค่าลงที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 ม.ค.66) ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.86 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญล่าสุด อย่างยอดค้าปลีก (Retail Sales) และ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนธันวาคม ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ เดินหน้าขายสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจนแตะระดับสูงกว่า 5% ก็ยิ่งกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.56% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่จะทยอยประกาศออกมา โดยหากผลประกอบการออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก็อาจกดดันให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อได้

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.23% ตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งยุโรปที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Anglo American +2.3%) ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทว่าภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่องได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว –12bp สู่ระดับ 3.38% ทั้งนี้ แม้เรามีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงปลายปี ซึ่งอาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวลดลงต่อได้ แต่ระดับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในปัจจุบันได้ปรับตัวลงมาเร็วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เรามองว่า นักลงทุนควรรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี มีการปรับตัวขึ้นบ้าง (เน้น Buy on Dip) ในการทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง พันธบัตรรัฐบาลโดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 102.4 จุด อีกครั้ง ทั้งนี้ แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะปิดรับความเสี่ยงและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 1,910 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า หากราคาทองคำมีการย่อตัวลงต่อเนื่องใกล้โซนแนวรับแถว 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยเข้าซื้อในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดแรงงานผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims)

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) และ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อเนื่อง +0.25% สู่ระดับ 3.00% และ 5.75% ตามลำดับ

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุมของ BNM และ BI ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของประธาน ECB (Christine Lagarde) หลังผู้เล่นในตลาดต่างลุ้นว่า ECB จะส่งสัญญาณชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้บ้างหรือไม่ จากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การพลิกกลับมาอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์ ในภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด และส่วนหนึ่งก็อาจมาจากการทยอยปิดสถานะ Short USDTHB ของผู้เล่นต่างชาติบางส่วน ทำให้ เราคงมองว่า ค่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งในวันนี้ ต้องระวังการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ข้อมูลตลาดแรงงาน เนื่องจากภาพตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง ทำให้เงินดอลลาร์ยังคงมีปัจจัยหนุนอยู่ รวมถึง ท่าทีของประธาน ECB ต่อแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโร (EUR) โดย เงินยูโรมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากประธาน ECB ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ECB อาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หรือ แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญในโซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์และเพิ่มสถานะ Short USDTHB

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.20 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 19 ม.ค. 2566 เวลา : 10:15:05

08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 6:08 am