ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 ก.พ.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 ก.พ.66) ที่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์
“แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้นกว่า +1.46% ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากความมั่นใจของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดอาจส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจากรายงานดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (Employment Cost Index) ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลที่เฟดใช้ประเมินสัญญาณเกี่ยวกับเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเพียง +1.0%q/q ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนๆ สะท้อนแนวโน้มการชะลอลงตัวลงของค่าจ้าง ซึ่งแนวโน้มเฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ยังได้หนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.67%

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงย่อตัวลง -0.26% โดยผู้เล่นในตลาดยังคงลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงก่อนรับรู้ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ Dior +0.9%, Kering +0.8% หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการของจีนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งสู่ระดับ 54.4 จุด ในเดือนมกราคม สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะดีขึ้นและส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าแบรนด์เนมได้

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอคอยผลการประชุมเฟด ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหว sideways ใกล้ระดับ 3.52% อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดบอนด์ไทย แนวโน้มธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทั้งบอนด์ระยะสั้นและบอนด์ระยะยาว ทำให้ยีลด์เคิร์ฟ (Yields Curve) ในฝั่งไทยต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย ได้ปรับขึ้นแตะระดับ 2.52% ส่วนบอนด์ยีลด์ 2 ปี ก็ปรับขึ้นสู่ระดับ 1.79% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนอาจรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในการทยอยเข้าซื้อสะสมได้ เพื่อเตรียมรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวและการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักในปีนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงสู่ระดับ 102 จุด อีกครั้ง ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และรายงานดัชนีต้นทุนการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ชะลอลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะลดการถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดและถ้อยแถลงของประธานเฟด ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จากแนวโน้มเฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้นกว่า +20 ดอลลาร์ จากโซนแนวรับ สู่ระดับ 1,942 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรก่อนเข้าการประชุมเฟดได้ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) โดยตลาดมองว่า ความต้องการซื้อสินค้าที่ลดลงตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านระดับสินค้าคงคลัง (Inventories) ที่ยังอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงหดตัว โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคมจะอยู่ที่ระดับ 48 จุด (จาก 48.4 จุด ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ ตลาดจะรอประเมินภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP รวมถึง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ชะลอลงได้

ทั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมเฟด (รับรู้ในช่วง 02.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย) เราคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงต่อเนื่องจะหนุนให้เฟดอาจตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง +0.25% สู่ระดับ 4.50%-4.75% อย่างไรก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2.00% พอสมควร อีกทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อจากภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัว จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง (เราคงมองว่าจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Terminal Rate ในครั้งนี้ จะอยู่ที่ระดับ 5.25%) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและผลการประชุมเฟดดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินสามารถอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องได้


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น เห็นได้ชัดว่ามาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอผลการประชุมเฟด ทำให้ ต้องระวังความผันผวนต่อเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด

โดยเรามองว่า หากผลการประชุมเฟดเป็นไปตามที่เราคาด คือ เฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% ตามที่ตลาดคาด แต่ยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อต่อ ในกรณีดังกล่าว เงินดอลลาร์อาจไม่ได้อ่อนค่าต่อไปมากนัก กลับกันเราอาจเห็น แรงขายทำกำไรสถานะ Short USD vs สกุลเงินอื่นๆ (มองเงินดอลลาร์อ่อน) ส่งผลให้เงินดอลลาร์อาจรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าต่อไปมากนัก และต้องรอจับตาการเคลื่อนไหวของราคาทองคำว่าจะปรับตัวลงหรือไม่ (หากราคาทองคำย่อลงแรง ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้)

แต่หาก เฟดขึ้นดอกเบี้ย +0.25% และส่งสัญญาณอยากชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรอประเมินข้อมูลเศรษฐกิจและผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยให้ครบถ้วน เรามองว่า ในกรณีนี้ อาจเห็นตลาดเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่วนราคาทองคำก็อาจปรับตัวขึ้นได้บ้าง หนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าใกล้โซนแนวรับสำคัญ 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์

และในกรณีสุดท้าย หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ตลาดอาจพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ซึ่งเราอาจเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมการย่อตัวลงของราคาทองคำ กดดันให้เงินบาทอาจอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 33.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ เรามองว่า กรณีนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.70-33.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.พ. 2566 เวลา : 09:19:49

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:06 pm