ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (31 มี.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.13 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (31 มี.ค.66)  ที่ระดับ  34.13 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.25 บาทต่อดอลลาร์
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Amazon +1.8%, Nvidia +1.5%) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 3.55% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย โดย GDP ไตรมาส 4 โต +2.6%q/q เทียบกับตลาดมอง +2.7%q/q ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 198,000 ราย สูงกว่าที่ตลาดคาด 196,000 ราย อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการย่อตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร (Wells Fargo -1.6%, BofA -1.3%) หลังคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เตรียมเสนอมาตรการกำกับดูแลภาคธนาคารสหรัฐฯ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อ +1.03% หลังผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ตามความกังวลปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรปที่คลี่คลายลง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (UBS +3.4%) ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ก็ปรับตัวขึ้นต่อได้ (ASML +3.0%) หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของสเปน ในเดือนมีนาคม ชะลอตัวลงมากกว่าคาดสู่ระดับ 3.3% (จาก 6.0% ในเดือนก่อนหน้า) ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปมากนัก หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น  
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.2 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด และส่วนหนึ่งก็มาจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ทั้งนี้ เรามองว่า หากรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ PCE ไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยลงหรือเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อตาม Dot Plot ล่าสุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่า ตลาดจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯและเงินดอลลาร์ สามารถช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1,996 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ PCE ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า โมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนกุมภาพันธ์ อาจชะลอลงสู่ระดับ +0.4%m/m ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าพลังงานและราคาสินค้าโดยรวม ส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงสู่ระดับ 5.1% อย่างไรก็ดี หากตัดผลของราคาพลังงานและราคาอาหาร โมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE จะอยู่ที่ +0.4%m/m ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ยังคงอยู่ที่ระดับ 4.7% สอดคล้องกับภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ในส่วนภาคการบริการที่ไม่รวมผลของที่อยู่อาศัย (Core Services Ex. Housing) ชะลอตัวลงช้า อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อ PCE และ Core PCE ไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้น กอปรกับ ภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อจากผลกระทบของปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคาร ก็จะช่วยลดความจำเป็นที่เฟดจะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนทะลุระดับ 5.25% แต่ทว่า เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25% จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมาย 2% อย่างชัดเจน ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นพร้อมกับการชะลอตัวลงมากขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะการจ้างงาน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หลังผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยและเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนกันยายน)
 
ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ชะลอลงสู่ระดับ 7.1% ตามคาด ในเดือนมีนาคม ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB อาจสามารถชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
 
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) โดยตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคบริการเดือนมีนาคม ที่ระดับ 50.5 จุด และ 54.3 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)  
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี ในช่วงวันนี้ ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงถูกจำกัดอยู่ ในลักษณะ Sideways
 
โดยในระหว่างวัน ค่าเงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้างจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้น หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจมาจาก 1) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึง 2) รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซนที่ชะลอลงชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดโอกาส ECB เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยแรง กดดันให้เงินยูโรอาจอ่อนค่าลง และหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
 
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ (ช่วงประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือ ไม่ได้ชะลอลงชัดเจน (เน้นจับตาการเปลี่ยนแปลงรายเดือน หรือ %m/m) ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยปรับมุมมองว่า เฟดอาจสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ และ/หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็อาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้เช่นกัน และการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง โดยในกรณีนี้ เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งก็สามารถช่วยหนุนให้ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าทดสอบแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์
 
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.35 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 มี.ค. 2566 เวลา : 10:50:29

01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 5:59 pm