ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 เม.ย.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 เม.ย.66) ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างของหุ้นแต่ละกลุ่ม โดยหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นแรง (Exxon Mobil +5.9%, Chevron +4.2%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Tesla -6.2%, Amazon -0.85%) เผชิญแรงขายทำกำไร หลังจากผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่า หากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงได้ยาก จนทำให้เฟดยังสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ หรือ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดเริ่มให้โอกาส 55% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม) การเคลื่อนไหวที่สวนทางกันของหุ้นกลุ่มดังกล่าวได้ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.37% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -0.27%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อลงเล็กน้อย -0.03% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่า การปรับตัวขึ้นแรงของราคาพลังงานอาจยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงยากขึ้น หรือ อาจเร่งตัวขึ้น ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ โดยมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้กดดันให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เผชิญแรงขายทำกำไร (ASML -1.2%, Kering -1.1%) ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies +5.9%, BP +4.3%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกังวลว่า การปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้า และอาจกดดันให้บรรดาธนาคารหลักเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ซึ่งได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ในหลายประเทศ) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 3.55% แต่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนมีนาคม ที่ออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร ก็พลิกกลับมาทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.41% ทั้งนี้ เราคงมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงดูดีอยู่ และหากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงสะท้อนภาพการจ้างงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ซึ่งผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (Buy on Dip)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด (โดยเฉพาะฝั่งตลาดเอเชีย) นอกจากนี้ รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็ได้กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเช่นกัน ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯและเงินดอลลาร์ สามารถช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) เพื่อประเมินภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ว่าจะยังคงตึงตัวมากขนาดไหน โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ยอดตำแหน่งงานเปิดรับอาจลดลงบ้าง สู่ระดับ 10.4 ล้านตำแหน่ง ตามการปรับแผนการจ้างงานของหลายบริษัท โดยเฉพาะฝั่งบริษัทกลุ่มเทคฯ อย่างไรก็ดี ยอดดังกล่าวก็อาจสูงกว่ายอดผู้ว่างงานทั้งหมดเกือบ 1.8 เท่า สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงตึงตัวอยู่พอสมควร

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.60% เพื่อรอประเมินผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยก่อนหน้าต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ

เราประเมินว่า ในระหว่างวันนี้ ค่าเงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้างจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้น หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (นักลงทุนต่างชาติได้กลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิกว่า +1.3 พันล้านบาท ในวันก่อนหน้า) นอกจากนี้ โฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ก็อาจพอช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับหรือ Job Openings ของสหรัฐฯ (รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ) เพราะหาก ข้อมูลการจ้างงานไม่ได้สะท้อนภาพตลาดแรงงานชะลอตัวลงแรง หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.30 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 เม.ย. 2566 เวลา : 09:54:43

01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 4:20 am