ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (12 เม.ย.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์


ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12 เม.ย.66) ที่ระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.23 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมมีการเคลื่อนไหวที่ผสมผสาน โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น (BofA +2.8%, Wells Fargo +1.9%) ตามความคาดหวังรายงานผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มพลังงานก็ปรับตัวขึ้นได้ (Exxon Mobil +0.7%, Chevron +0.6%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth กลับปรับตัวลงสวนทางหุ้นกลุ่มอื่นๆ (Microsoft -2.3%, Amazon -2.2%) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.43% ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่าเฟดยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ และผู้เล่นในตลาดจะยิ่งเชื่อในมุมมองดังกล่าว หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ ชะลอตัวลงไม่มาก ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวของหุ้นแต่ละกลุ่ม ได้ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงต่อ -0.43% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.004%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.62% หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน และยอดค้าปลีก ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นำโดยหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto +4.9%, Anglo American +4.2%) ซึ่งได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาแร่โลหะพื้นฐานและโลหะมีค่าในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Dior +2.0%, LVMH +1.4%) ซึ่งก็ได้รับอานิสงส์จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน ในกรอบ sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตารายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังคงเคลื่อนไหว sideways เช่นเดียวกันกับเงินดอลลาร์ โดยราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถว 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจเป็นแนวต้านของราคาทองคำในระยะสั้น ส่วนโซนแนวรับแรกยังคงเป็นช่วง 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง +0.3%m/m หรือ +0.4%m/m สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI (ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหาร) สอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาพลังงานและภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI และ Core CPI อาจยังคงอยู่ในระดับสูงราว 5.2% และ 5.6% ทำให้เรามองว่า เฟดก็ยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 5.25% ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ใน Dot Plot ล่าสุด

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทโดยรวมเคลื่อนไหว sideways สอดคล้องกับทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันพุธนี้ (รับรู้ราวช่วง 19.30 น.)

โดยเราประเมินว่า ในระหว่างวันนี้ ค่าเงินบาทจะยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน เนื่องจาก 1) โฟลว์ธุรกรรมในตลาดอาจเบาบางลงมาก ในช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ (แต่ต้องระวังว่า ค่าเงินบาทก็อาจเคลื่อนไหวผันผวนได้เช่นกัน) 2) นักลงทุนต่างชาติเองก็อาจยังไม่เร่งรีบกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยหรือบอนด์ไทยต่อเนื่อง จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในคืนนี้

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน หรือ ออกมาสูงกว่าคาด เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่อาจจะยิ่งเชื่อว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย (ผู้เล่นในตลาดยังให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมราว 67% จาก CME FedWatch Tool) ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็อาจกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับ ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะแนวต้าน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจน หรือ ออกมาต่ำกว่าคาด (จับตาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI) ผู้เล่นในตลาดจะหันกลับมาเชื่อว่า เฟดคงไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้จากระดับ 5.00% ล่าสุด ทำให้ เรามีโอกาสเห็นทั้ง เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง ส่วนราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งในกรณีนี้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้แนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.35 บาท/ดอลลาร์ (ก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)

ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวอาจกว้างถึง ระดับ 34.00-34.50 บาท/ดอลลาร์ (ในช่วงรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 เม.ย. 2566 เวลา : 10:18:58

02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 1:17 am