ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (10 พ.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 33.67 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (10 พ.ค.66) ที่ระดับ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.69 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในฝั่งตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันนี้ รวมถึงการเจรจาขยายเพดานนี้ (US Debt Ceiling) ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการขายหุ้นบางส่วนที่รายงานคาดการณ์ผลประกอบการที่น่าผิดหวัง อาทิ บริษัท Paypal -12.7% รวมถึง บริษัท Skyworks -5.2% ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพให้กับผลิตภัณฑ์ของ Apple

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.33% กดดันโดยรายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนบางส่วนที่ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ ยอดการนำเข้า (Imports) ของจีนที่หดตัว -7.9%y/y แย่กว่าคาด ก็สร้างความกังวลต่อแนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมจากยุโรป กดดันให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ต่างปรับตัวลดลง Kering -2.7%, Hermes -1.1% ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ที่ย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นยุโรปเช่นกัน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน แม้เงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 101.6 จุด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังขาดปัจจัยหนุนที่จะทำให้แข็งค่าขึ้นชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ในระยะนี้ ยังคงเป็นความกังวลการเจรจาขยายเพดานหนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาพรวมตลาดการเงินที่เริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น กอปรกับผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลต่อประเด็นการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มเติม ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2,044 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่าผู้เล่นบางส่วนอาจใช้จังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวในการทยอยขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า โมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อ CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจยังไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน อย่างที่ตลาดและเฟดคาดหวัง (CPI +0.4%m/m, Core CPI +0.3%m/m) ทำให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อาจยังคงอยู่ในระดับสูงราว 5.00% และ 5.50% ตามลำดับ ซึ่งภาพดังกล่าว อาจเพิ่มโอกาสที่เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้บ้าง แต่เรามองว่า เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อ (Higher for Longer) เนื่อจากแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มได้รับผลกระทบและชะลอลงจากภาวะการปล่อยสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้น

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามการเจรจาขยายเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับผู้นำ ฝ่ายพรรครีพับลิกัน และสมาชิกสภาคองเกรสบางส่วน เพื่อประเมินความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ หากการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปในการขยายเพดานหนี้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด แต่โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นใกล้โซน 33.70 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง

ส่วนในวันนี้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบกว้างได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ (เวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งเราประเมินว่า หากอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ไม่ได้ชะลอลงชัดเจนหรือออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับสมมติฐานใหม่ ว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ได้นานกว่าคาด ทำให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง (แต่อาจยังติดโซนแนวต้านแถว 101.8-102 จุด สำหรับ ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY)

ทั้งนี้ ในส่วนของเงินบาท เรามองว่า ในช่วงระหว่างวันก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจจะยังคงเป็นฝั่งซื้อสุทธิบอนด์ ขณะที่ฝั่งหุ้น นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบเข้าซื้อ จนกว่าจะรู้ผลการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมาก จนหลุดโซนแนวรับในกรอบสัปดาห์ที่เราประเมินไว้แถว 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจาก ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางส่วนก็อาจรอจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นในการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ อีกทั้งในช่วงนี้ก็ยังมี โฟลว์จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติอยู่

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.90 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 พ.ค. 2566 เวลา : 09:29:11

29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 3:34 pm