ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (11 พ.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์


ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (11 พ.ค.66) ที่ระดับ  33.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.65 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยปัจจัยกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเป็นความกังวลการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ (US Debt Ceiling) ที่ยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถหาทางออกร่วมกับสภาคองเกรสได้ อย่างไรก็ดี รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อยและเป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่อง ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดมากขึ้น โดยมุมมองดังกล่าว ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.44% ซึ่งยังได้ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.04% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.45%
 
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.38% กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ Unilever -1.7%, Nestle -1.6% ท่ามกลางความกังวลว่า หาก ECB และ BOE เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องก็อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอมากขึ้นได้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -1.4%, LVMH -0.9%) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงไม่มั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในระยะนี้ต่างออกมาแย่กว่าคาด
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเร็วและแรง (ดัชนี DXY ลดลงใกล้ระดับ 101.2 จุด) จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดและเป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็สามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ แม้จะชะลอลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เฟดอาจต้องคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาดได้ ทั้งนี้โดยรวมเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้แกว่งตัวใกล้ระดับ 101.4 จุด (ระดับก่อนรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI จะอยู่ที่ 101.8 จุด) ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) จะสามารถพุ่งขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ทว่าราคาทองคำก็ยังไม่สามารถผ่านแนวต้านดังกล่าวได้ และเผชิญแรงขายทำกำไร กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงกลับมาสู่ระดับในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI แถว 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง
 
สำหรับวันนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและไม่มีสัญญาณชะลอลงชัดเจน (อัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนเมษายน อาจอยู่ที่ระดับ 10% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI จะอยู่ที่ระดับ 6%) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 4.50% นอกจากนี้ เรามองว่า BOE อาจยังคงส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ ซึ่ง BOE จะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด (Data Dependent)
 
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ แม้ว่ารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนก่อนหน้าจะสะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ ทว่า ผู้เล่นในตลาดก็จะรอประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index หรือ PPI) ซึ่งหาก PPI ชะลอตัวลงต่อเนื่องในเดือนเมษายน ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อมั่นในมุมมองแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่าเฟดจะไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเกินกว่าระดับ 5.25%
 
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักดังกล่าว
  
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำได้ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จนทดสอบแนวรับในกรอบสัปดาห์แถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า ก่อนที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี โมเมนตัมฝั่งแข็งค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ และอาจช่วยหนุนให้เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นได้บ้างในวันนี้
 
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเผชิญแนวรับสำคัญแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ และอาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุต่ำกว่าระดับได้ง่ายนัก จนกว่าจะได้ปัจจัยหนุนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติต่างรอผลการเลือกตั้ง โดยการกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยสองวันที่ผ่านมา ได้สะท้อนมุมมองดังกล่าวและยังสอดคล้องกับผลการศึกษาฟันด์โฟลว์ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 5 ครั้งล่าสุด ที่เราพบว่า นักลงทุนต่างชาติจะระมัดระวังตัวมากขึ้นและอาจปรับลดความเสี่ยงพอร์ตลงบ้าง ก่อนจะรับรู้ผลการเลือกตั้ง
 
นอกจากนี้ เรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้นำเข้าในช่วงโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทอาจทรงตัวเหนือโซนแนวรับดังกล่าวได้บ้าง อีกทั้งแรงขายทำกำไรสถานะ Long THB ของผู้เล่นในตลาดและโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ อนึ่งปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทอาจมาจากความกังวลปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ซึ่งมักจะกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้เราประเมินว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทในระยะสั้นจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (โซน 33.80-33.90 บาทต่อดอลลาร์ ก็เริ่มมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายเงินดอลลาร์บ้าง)
 
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.70 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 พ.ค. 2566 เวลา : 10:29:02

29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 6:43 pm