ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (24 ก.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.41 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 ก.ค.66) ที่ระดับ  34.41 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.45 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหว sideway ในกรอบใกล้แนวต้าน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาสถานการณ์การเมืองไทยและการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลักในสัปดาห์นี้ 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยช่วงตลาดผันผวน และแรงเทขายสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยเฉพาะ JPY และ GBP

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงวันพฤหัสฯ ที่จะมีทั้ง การประชุมเฟด และ ECB รวมถึง การเลือกนายกฯ ของไทย ทั้งนี้ ตลอดสัปดาห์ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

- ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด โดยเรามองว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หรือ รอประเมินสถานการณ์ไปก่อน อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า การขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ จะเป็น “ครั้งสุดท้าย” ของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ หลังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงมากขึ้น (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE เดือนมิถุนายน ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ ก็อาจชะลอลงสู่ระดับ 4.2%) อีกทั้งภาวะสินเชื่อ (Credit Condition) ก็ตึงตัวมากขึ้นชัดเจน ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ต่างคาดว่า ภาคการผลิตและภาคการบริการสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) เดือนกรกฎาคม ที่จะลดลงสู่ระดับ 46.2 จุด และ 54 จุด ตามลำดับ (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังพอได้แรงหนุนจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) เดือนกรกฎาคม ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 112 จุด หนุนโดยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงต่อเนื่องและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Microsoft, Alphabet, Meta เป็นต้น

-ฝั่งยุโรป – สำหรับการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) เรามองว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) +25bps สู่ระดับ 3.75% ทั้งนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่า ECB จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ในการประชุมครั้งถัดไป หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงมาก แม้ว่าจะชะลอลงต่อเนื่องก็ตาม โดยเรามองว่า หนึ่งในปัจจัยที่บรรดาเจ้าหน้าที่ ECB อาจใช้พิจารณาถึงความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยต่อ คือ รายงานภาวะสินเชื่อ (Bank Lending Survey) ในไตรมาส 2  และรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซนในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะสะท้อนผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ในช่วงที่ผ่านมา

-ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเริ่มชะลอลงบ้างหลังจากที่ภาคการบริการได้ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากอานิสงส์การเปิดประเทศ โดยล่าสุดดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนกรกฎาคมอาจชะลอลงสู่ระดับ 53 จุด ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจอยู่ที่ระดับ 49.8 จุด สะท้อนว่าภาคการผลิตอาจหดตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจหลัก ทั้งนี้ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเราคาดว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% แต่เราจะรอจับตาอย่างใกล้ชิดว่า BOJ จะปรับนโยบาย Yields Curve Control หรือไม่ (เราคาดว่า BOJ จะยังไม่มีการปรับนโยบาย YCC ในครั้งนี้) โดยหาก BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมปรับ YCC ก็อาจส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าต่อได้บ้าง นอกจากนี้ ควรรอติดตาม คาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของ BOJ ที่อาจส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ BOJ ในอนาคต ส่วนธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ก็อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.75% หลังอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง อีกทั้งเงินรูเปียะห์ (IDR) ก็มีเสถียรภาพมากขึ้น

- ฝั่งไทย – ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก และนักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรได้บ้าง อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติก็พร้อมกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หากการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความชัดเจนมากขึ้น ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์มองว่า ดุลการค้า (Trade Balance) เดือนมิถุนายนอาจขาดดุล -800 ล้านดอลลาร์ หลังยอดการส่งออก (Exports) หดตัวต่อเนื่องกว่า -6.3%y/y ตามการชะลอตัวลงของบรรดาเศรษฐกิจคู่ค้า

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าเริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่เงินบาทจะยังไม่ได้อ่อนค่าไปมาก จนทะลุแนวต้านโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นต่างชาติเริ่มมองเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและทยอยเพิ่มสถานะ Long เงินบาท (มองเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น) อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะยังไม่กลับมาเป็นเทรนด์แข็งค่าต่อเนื่อง จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการโหวตเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลผสม

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ ในกรณีที่ 1) เฟดส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่ทั้ง ECB และ BOJ กลับไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยหรือใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) และ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงได้บ้าง หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หรือ 2) ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ในกรณีที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนออกมาน่าผิดหวัง ซึ่งต้องระวังรายงานจากบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและภาวะตลาดการเงินในช่วงรับรู้รายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.00-34.75 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.50 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ก.ค. 2566 เวลา : 10:29:27

29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 5:21 am